ฟิทช์มองว่าการชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz และการปรับเพิ่มเงินลงทุน จะช่วยเพิ่มคุณภาพของโครงข่ายในพื้นที่ต่างจังหวัด และช่วยชะลอการลดลงของส่วนแบ่งทางการตลาดและรายได้จากการให้บริการ นอกจากนี้ ภายใต้เงื่อนไขของการประมูลคลื่น 900MHz DTAC ยังได้รับอนุญาตให้สามารถใช้คลื่นความถี่ 850MHz ซึ่งบริษัทได้ใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้สัญญาสัมปทานระบบ 2G ซึ่งได้หมดอายุลงในเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา การที่บริษัทสามารถใช้คลื่นความถี่ 850MHz อย่างต่อเนื่องน่าจะป้องกันไม่ให้คุณภาพของโครงข่ายแย่ลง และรักษาผู้ใช้บริการให้อยู่กับบริษัท ฟิทช์เชื่อว่าผลประโยชน์จากคลื่นความถี่ดังกล่าว น่าจะมากกว่าค่าประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่อยู่ในระดับสูง
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ DTAC สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่คู่แข่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มาจากการที่ DTAC มีความเสียเปรียบด้านคลื่นความถี่ และคุณภาพของโครงข่าย DTAC มีคลื่นความถี่ในการให้บริการจำนวนมาก แต่ทั้งหมดเป็นคลื่นความถี่สูง ซึ่งได้แก่ คลื่นความถี่ 1.8GHz 2.1GHz และ 2.3GHz ซึ่งเหมาะกับการให้บริการในเมือง
ค่าประมูลคลื่นความถี่ 900MHz และเงินลงทุนในการก่อสร้างโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น น่าจะกระทบต่อกระแสเงินสด และอัตราส่วนหนี้สินของ DTAC อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน น่าจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวด้านการเงินสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ DTAC จะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 อยู่ที่ 1.4 เท่า) ซึ่งสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน
ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Fund Flows from Operations) ของ DTAC จะลดลงในปี 2561 และ 2562 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ประมาณ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี (ปี 2560: 2.9 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDA Margin) จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 34-36 (ปี 2560: ร้อยละ 38) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นที่จ่ายให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT สำหรับการใช้คลื่นความถี่ 2.3GHz และค่าเช่าอุปกรณ์ที่จ่ายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 DTAC ได้ประกาศว่าบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ DTAC ถือหุ้นทั้งหมด เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz คิดเป็นแถบกว้าง 2 x 5MHz ด้วยราคาประมูลรวมทั้งสิ้น 38,064 ล้านบาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit