นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเด็กชายมีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันและเกิดการติดเชื้อ จนจำเป็นต้องถอนฟัน เจาะระบายหนองออกและให้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นผลแทรกซ้อนจากการลุกลามของโรคฟันผุ ทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในฟันและลุกลามจนเกิดหนองที่อวัยวะข้างเคียงเช่น แก้ม คาง ดวงตา ร้ายแรงที่สุดคือสามารถติดเชื้อในสมองและติดเชื้อในกระแสเลือด จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โรคฟันผุในเด็กเล็กมีผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กมาก หากไม่ได้รับการรักษา เด็กจะเสียวฟัน ปวดฟัน กินอาหารได้น้อยลง ไม่ร่าเริง มีผลต่ออารมณ์ และกระทบต่อการนอนหลับ เหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติของเด็ก จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในปี 2560 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี และ 5 ปี มีปัญหาฟันผุประมาณร้อยละ 53 และ 76 ตามลำดับ โดยในกลุ่มเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาสูงถึง ร้อยละ 52 ผู้ปกครองจึงควรตระหนักถึงผลเสียของฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา จนเกิดการติดเชื้อ ทำให้การรักษามีความยุ่งยากมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าการการดูแลป้องกันไม่ให้ฟันผุตั้งแต่ต้น โดยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยผู้ปกครองคอยช่วยบีบยาสีฟันในปริมาณที่เหมาะสมตามวัยและช่วยเด็กแปรงฟันให้สะอาด รวมถึงการไปพบทันตบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ทุก 6 เดือน
"ทั้งนี้ โรคฟันผุในเด็กเล็กสามารถป้องกันได้ ผู้ปกครองต้องใส่ใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดช่องปากให้เด็ก เช็ดช่องปากด้วยให้สะอาดเมื่อฟันยังไม่ขึ้น แปรงฟันตั้งแต่ฟันซี่แรก เพื่อให้เด็กเกิดความเคยชิน เพราะการแปรงฟันที่ผสมยาสีฟันผสมฟลูออไรด์มีความสำคัญและเป็นวิธีการป้องกันฟันผุที่ดีที่สุด กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ปกครองช่วยลูกแปรงฟันให้สะอาดจนถึง 6 ปี ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ให้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่ ทุกด้าน ร่วมกับการลด ละ เลิก ขนมหวาน น้ำหวาน และการกินนอกมื้ออาหารไม่ให้เกินวันละ 2 ครั้ง" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า เด็กควรมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น หรือไม่เกินอายุ 1 ปี และมาตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจฟัน รับคำแนะนำจากทันตแพทย์ และเคลือบฟลูออไรด์ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ผู้ปกครองสามารถตรวจฟันลูกได้เองเบื้องต้น หากพบลักษณะสีขาวขุ่นบริเวณคอฟัน ซึ่งหมายถึงเด็กเริ่มมีรอยฟันผุระยะเริ่มต้น มีความเสี่ยง ในการเกิดฟันผุสูง เป็นช่วงวิกฤติก่อนที่รอยโรคเหล่านี้จะลุกลามเป็นรูผุ และเด็กจำเป็นต้องรับการรักษาโดยการ อุดฟัน ผู้ปกครองสามารถช่วยหยุดการลุกลามได้ด้วยตนเองโดยการแปรงฟันให้ลูกให้สะอาด เน้นบริเวณคอฟัน ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1000 PPM โดยความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองต้องเป็นผู้บีบยาสีฟันให้เด็ก ไม่ให้เด็กบีบยาสีฟันเอง เด็กที่มีอายุต่ำว่า 3 ปี ควรใช้ปริมาณยาสีฟันแค่แตะแปรงพอชื้น เด็กอายุ 3 - 6 ปี ควรบีบยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา หรือ ตามความกว้างของแปรง และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป บีบยาสีฟันตามความยาวของหัวแปรงได้ เมื่อแปรงฟันเสร็จแล้วใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเพื่อเช็ดฟอกยาสีฟันออก โดยไม่จำเป็นต้องบ้วนน้ำ หากพบจุดสีดำหรือสีน้ำตาลบนผิวฟัน หรือพบรูฟันผุ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับ การรักษาที่เหมาะสม ก่อนที่รูผุจะลุกลามจนทำให้เกิดการติดเชื้อ จนเด็กปวดฟัน นอกจากนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรใส่ใจในการเลือกขนาดของแปรงสีฟันที่เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก และผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมอนามัย หรือแปรงสีฟันติดดาว
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit