งาน Oslo Innovation Week เป็นงานสำคัญประจำปีของกรุงออสโล ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2548 ได้รับการจัดขึ้นมาแล้ว 12 ครั้ง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานประชุมนานาชาติด้านส่งเสริมนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป และเป็นเวทีพบปะของนักวิจัย นักลงทุน นักธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม Tech Startup และผู้เชี่ยวชาญ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เป็นงานที่ "เชื่อม" ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านนวัตกรรมกับนักลงทุน ซึ่งในปีนี้ งานได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการด้วยพิธีเปิดที่ Oslo City Hall โดยรวบรวมบุคคลแนวหน้าทางด้าน Startup และผู้ประกอบการทางสังคม (Social Enterprise) จากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศ Nordics มากล่าวบรรยายถึงสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ทำให้ Startup ไทยได้เรียนรู้ถึงโอกาส ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับ Startup ของประเทศที่มีการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจนวัตกรรมระดับสูงเพื่อเตรียม Startup ไทยให้พร้อมรับกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในโอกาสนี้ Startup ไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจในกิจกรรม 100 Pitches Entry Rounds จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัทแจ๊สเบอรี่ซึ่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเกษตรกร และบริษัทรีคัลท์ซึ่งใช้เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพจากดาวเทียมสำหรับการทำเกษตรกรรม ซึ่งทั้งสองบริษัทได้รับคัดเลือกจากบริษัทที่สมัครเข้าแข่งขันทั้งหมด 200 ราย จนมาเป็น 2 ใน 64 บริษัทที่คณะกรรมการเลือกให้เข้าแข่งขันเสนอแผนธุรกิจ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN's Sustainable Development Goals)
นอกเหนือจากกิจกรรมข้างต้น Startup ไทยยังได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้การพัฒนาภาคธุรกิจและแนวทางการทำงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของ Startup ประเทศนอร์เวย์ อาทิ กิจกรรม Cutting Edge Festival ซึ่งมีการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมล่าสุดในด้านต่างๆ อาทิ healthtech และ กิจกรรม The Edtech Day ซึ่งนำเสนอการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหาทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคม
ภายในงาน Oslo Innovation Week 2018 ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกหลากหลายอย่าง โดย Startup ไทยได้เข้าร่วม Oslo Business Forum ซึ่งเป็นการสัมมนาด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการจากกลุ่มประเทศ Nordics เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมยุค 4.0 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศนอร์เวย์เองนั้นต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการที่ประยุกต์ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันที่ทรัพยากรกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่ามีเป้าหมายคล้ายกับประเทศไทยที่แม้จะไม่ใช่ประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมัน แต่ก็ต้องการเทคโนโลยีเพื่อผลักดันให้ประเทศมีผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และรับมือกับสภาวะที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และค่าจ้างแรงงานในประเทศที่สูงขึ้น
Startup ไทยยังได้เข้าร่วมงาน The Funding for Impact ซึ่งเป็นการสัมมนาเพื่อหาแนวทางในการบริหารธุรกิจเพื่อสังคมให้มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งและขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งนอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องการสนับสนุนให้ Startup และผู้ประกอบการทางสังคมได้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง "Impact Startup" ที่ถือเป็นกระแสของ Startup ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในด้านต่าง ๆ
การเข้าร่วมงาน Oslo Innovation Week 2018 ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ Startup ไทยได้เห็นภาพการทำงานของ Startup ที่กว้างขึ้นในระดับโลก แต่ยังทำให้ Startup ไทยได้เห็นถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆที่ Startup สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในหลากหลายแง่มุม อีกทั้งยังตรงกับเป้าหมายการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันกับภาคธุรกิจนานาประเทศได้เครดิตที่มาของข่าว http://globthailand.com/norway_0008/