ดร. สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านโครงการตามพระราชดำริกว่า 4 พันโครงการทั่วประเทศ อีกทั้งได้พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่คนไทย ดังนั้นกิจกรรม ทิพยประกันภัยร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา ตอน "ตามรอยพระราชา" จึงเป็นกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วม รวมถึงเด็กๆ ทั้ง 30 คน จะได้ร่วมกันน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มาสัมผัสและเรียนรู้ถึงแนวคิด วิธีการ และความยั่งยืนที่เกิดจากโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ด้วยตนเอง และนำความรู้หลักคิดต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม เพื่อให้สิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยไม่สูญหายไปตามกาลเวลา ดังที่ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวไว้ว่า "หากเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชา พระองค์จะทรงอยู่ในหัวใจของพวกเราตลอดไป"
ทิพยประกันภัยร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา ตอน "ตามรอยพระราชา" เริ่มต้นด้วยการแสดงสัมโมทนียกถาน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 โดย พระอาจารย์ภานุวัฒน์ จิตตทันโต พระวิทยากรวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกันปฏิบัติบูชาถวายเพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยการนั่งสมาธิ 9 นาที จากนั้นคณะเยี่ยมชมชมวัดพระราม 9
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2538 ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดเล็กๆ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนในบริเวณใกล้เคียง และเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ในการเผยแพร่ศีลธรรมและจริยธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนจากนั้นคณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางไปยังชุมชนบ้านศาลาดิน ริมคลองมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีความเป็นมาย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2403 เมื่อการขุดคลองมหาสวัสดิ์เสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ทำการสร้างศาลาเพื่อสาธารณประโยชน์ริมคลองขุดมหาสวัสดิ์ทุกระยะทาง 4 กิโลเมตร เป็นจำนวนทั้งหมด 7 ศาลา สำหรับศาลาหลังสุดท้ายอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลมหาสวัสดิ์ เรียกกันว่าศาลาดิน จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านศาลาดิน" เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวปีละครั้ง มีฐานะยากจนและขาดที่ดินทำกินของตัวเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้แก่เกษตรกร จำนวน 1,009 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2518 จัดสรรแปลงละ 20 ไร่ ให้เกษตรกรเข้าทำกินได้ในปี พ.ศ. 2520 และพระราชทานแนวทางการทำเกษตรผสมผสาน ชุมชนบ้านศาลาดินจึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเยาวชนทั้ง 30 คนได้เยี่ยมชมโครงการและร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนบ้านศาลาดินใน 4 ฐานกิจกรรม ได้แก่
สวนผลไม้และนาข้าว เรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนชาวไร่ นั่งรถอีแต๋นชมทิวทัศน์ทุ่งนาแบบ 360 องศา ชิมผลไม้สดจากสวนที่มีให้รับประทานอย่างหลากหลายตลอดทั้งปี และร่วมกิจกรรมทำข้าวตู
บ้านฟักข้าว เยี่ยมชมสวนฟักข้าวริมคลองมหาสวัสดิ์ ชิมผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว เช่น น้ำฟักข้าว คุกกี้ฟักข้าว หมี่กรอบฟักข้าว ก๋วยเตี๋ยวฟักข้าว และฟังการร้องเพลงแหล่นาบัว เยี่ยมชมนาบัวสัตตบงกชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรทั้งจากการขายดอกบัว เลี้ยงปลาในนาบัว และการปลูกพืชผักรอบนาบัว พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมเก็บดอกบัวในนาบัวและพับดอกบัวถวายเป็นราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช เนื่องในวันปิยมหาราช
บ้านข้าวตัง เรียนรู้วิถีชุมชนที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ พร้อมชมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บ้านศาลาดินมีผลิตภัณฑ์ข้าวตังจากข้าวกล้องหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอรี่โดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมหาสวัสดิ์ และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายชนิด เช่น ไข่เค็มไอโอดีน กล้วยตาก กล้วยกวน ผลไม้ตากแห้ง นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ทางการเกษตร เช่น การแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาลโดยใช้โรงแสงอาทิตย์ การทำผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดให้เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการน้ำชุมชน นอกจากนี้เยาวชนยังได้ลองลงมือทำข้าวตังด้วยตัวเองอีกด้วย
โครงการ ทิพยประกันภัยร่วมสืบสานศาสตร์พระราชา ตอน "ตามรอยพระราชา" จัดโดยทิพยประกันภัย ร่วมกับ มูลนิธิธรรมดี สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี และธรรมดีทัวร์เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และองค์กรต่างๆ ได้เดินทางมาสัมผัส เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยและเป็นแบบอย่างของคนทั่วโลก โดยมีกิจกรรมเสริมทักษะภายในพื้นที่โครงการต่างๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชน และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรอย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น