มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมดูแลสืบสานวัฒนธรรม จึงสนับสนุนให้นักศึกษานำทุนทางวัฒนธรรม มาออกแบบสร้างสรรค์ ให้เข้ากับแฟชั่นระดับโลก เพื่อผลักดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้จังหวัดขอนแก่นกลายเป็น "นครแห่งผ้ามัดหมี่โลก" โดยได้รับการตรวจประเมินจากผู้เชี่ยวชาญระดับสากล ในวันที่ 11 ตุลาคม2561 ที่ผ่านมา ณ ตลาดต้นตาล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทั้งนี้ผลงานของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ต่างได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สามารถดึงเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาผสานให้เข้ากับแฟชั่นได้อย่างร่วมสมัย
นายบัญชา พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีภารกิจทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งในยุคปัจจุบัน การอนุรักษ์แบบเดิมอาจจะทำให้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จึงสนับสนุนนักศึกษาแสดงความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับชุมชน โดยการนำวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคสมัย นำองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกิดจากทุนทางวัฒนธรรมอีสาน อาทิ การออกแบบลายผ้า ตัดเย็บ ด้วยฝีมือนักศึกษา พร้อมนายแบบ นางแบบ มาร่วมงาน โดยคาดหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ จังหวัดขอนแก่นกลายเป็นนครแห่งมัดหมี่โลกได้ในที่สุด
ผศ. ดร. ชนัษฎา จุลลัษเฐียร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบ(สิ่งทอและแฟชั่น) มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบจึงนับเป็นส่วนสำคัญมากในการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไทย ถือเป็นความท้าทายของดีไซน์เนอร์ในยุคนี้ ที่จะทำให้ผ้าไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดแฟชั่นระดับโลก โครงการนี้จึงถือเป็นเวทีสำคัญในการสนับสนุนให้นักศึกษามีพื้นที่แสดงความสามารถ นำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้จริง
ผศ.วาริน บุญญาพุทธิพงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบ (สิ่งทอและแฟชั่น) กล่าวเสริมว่า ทำอย่างไรจะสามารถผลักดันภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่สากลได้ นักศึกษามีความรู้ในทั้งสองส่วนคือ ภูมิปัญญาดั้งเดิมและสมัยใหม่ และสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากันได้ การนำชุดมาแสดงต่อสาธารณะถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะหลังจากที่นักศึกษาสาขาเท็กซ์ไทล์แฟชั่น(สิ่งทอ) ได้ออกแบบแล้ว ก็ควรได้ทราบเสียงทะท้อนกลับจากผู้บริโภค นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้กระบวนการการนำเสนอ การจัดการทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ซึ่งก็เห็นว่านักศึกษามีความภูมิใจกับผลงานตัวเอง และสิ่งนี้จะทำให้เขาได้มั่นใจในอาชีพของตัวเองด้วย
นายธนพล เสนเคน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า คนส่วนใหญ่ยังมองว่าผ้าไทยล่าสมัย ใส่ได้เฉพาะกับคนรุ่นแม่ แต่เมื่อตนมีโอกาสศึกษา ทำให้มองผ้าไทยในมุมต่างออกไป โดยเฉพาะการเติบโตในภูมิลำเนาอีสานยิ่งทำให้หลงใหล อยากนำเอาทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาโดยอาศัยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานออกมาและพัฒนาต่อยอดสู่ธุรกิจให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะนอกจากจะเป็นความสำเร็จของตนเองแล้ว ยังเป็นความสำเร็จของการอนุรักษ์และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนอีกด้วย
"การได้มีโอกาสนำผลงานมาแสดงแฟชั่นโชว์ในวันนี้ ทำให้ผลงานพัฒนาได้ก้าวหน้า สร้างผลงานความเป็นอีสานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่ารู้จักความเป็นอีสานดี เพราะกลิ่นอายของความเป็นอีสานจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ภาคอื่นไม่มี เช่น โทนสี ลายผ้า มีความโดดเด่น ถ้าเรียนจบแล้วก็อยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชน" นายธนพล กล่าว
ทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) จึงถือเป็นเหมือนตัวกลางสำคัญในการเชื่อมความคิดสร้างสรรค์ กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างลงตัว ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กรุ่นใหม่ ไม่แน่ว่าเราอาจเห็นมัดหมี่อีสาน ตะหง่านกลางเวทีแฟชั่นโลกในอนาคตอันใกล้นี้
บทความ /ภาพ : จิราพร ประทุมชัย
]
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit