สืบสาน ต่อยอด พัฒนาและรณรงค์ การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

25 Oct 2018
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก ครั้งแรกเมื่อปี 2534 และได้มีพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งด้านการศึกษาวิจัย วิธีการปลูกและการใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยทรงเน้นการปลูกหญ้าแฝกอย่างถูกต้อง ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีปัญหาในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
สืบสาน ต่อยอด พัฒนาและรณรงค์ การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุโซนร้อน "เซินก้า" เคลื่อนตัวผ่านพื้นที่จังหวัดสกลนคร ทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ตำบลขมิ้น อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ชำรุด น้ำในอ่างไหลท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รวมทั้ง มีพระราชดำริให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นและรอบอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ ตลอดจนพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป โดยมีสำนักงาน กปร. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ร่วมกันบูรณาการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมขยายผลการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลาย ตลอดถึงพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนด้านวิชาการและการติดตามประเมินผล

ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและติดตามประเมินผล ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ตามภูมิภาค พบว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยังขาดความรู้ทางวิชาการและในการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก จึงเห็นควรให้จัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเมื่อวันที่ 25-28 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน กปร. ได้จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี โดยจัดขึ้นครั้งแรก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริเข้ารับการฝึกอบรม จำนวนกว่า 50 คน อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานด้านหญ้าแฝกได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมกับสามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหญ้าแฝกทั้งในเรื่องการปลูกการขยายพันธุ์ การดูแลรักษา รวมถึงการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อนำไปสู่การปฎิบัติให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง และเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดความเชื่อมโยงอันจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกให้บังเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

นายอาจิน หนูประสิทธิ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าหน่วยจัดน้ำคลองกลาย อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้กล่าวว่า ได้ปฏิบัติงานด้านนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อทราบว่ามีโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ จึงมาเข้ารับการอบรมด้วยความสมัครใจ เพราะต้องการความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำตามเอกสารที่ผ่านมานั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร

"เมื่อปี 2554 ได้เกิดน้ำท่วมดินถล่มครั้งใหญ่ที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย หน้าดินพังทลาย ทางกรมอุทยานฯ ได้ประสานงานกับทาง สำนักงาน กปร. เข้าไปดูพื้นที่ร่วมกันและทำโครงการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ด้วยการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนในพื้นที่นำหญ้าแฝกมาปลูกเพื่อรักษาและป้องกันหน้าดิน เริ่มเอาหญ้าแฝกมาใช้ครั้งแรกปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จากจุดที่เกิดเหตุในครั้งนั้นจนถึงวันนี้สภาพค่อนข้างจะกลับเข้าสู่ปกติ และที่สำคัญการเข้าอบรมครั้งนี้ได้รับคำตอบเพื่อไปบอกเกษตรกรในพื้นที่ด้วยว่าที่เข้าใจกันผิดๆ ที่ผ่านมาว่า หากปลูกหญ้าแฝกแล้ว หญ้าแฝกจะไปแย่งอาหารต้นพืชอื่น ๆ ที่ปลูก ไม่เป็นความจริง ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่มีการศึกษาทดลองแล้วของนักวิชาการด้านหญ้าแฝก ที่มาให้ข้อมูลในการอบรมครั้งนี้ได้นำมาถ่ายทอดจนเป็นที่เข้าใจ ก็จะนำข้อมูลที่ถูกต้องนี้ไปชี้แจงกับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป" นายอาจินหนูประสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะผู้เข้ารับการอบรมยังได้เดินทางเข้าศึกษาดูงานจากการน้อมนำพระราชดำริในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกไปปฏิบัติในพื้นที่จริงของเกษตรกรจนประสบความสำเร็จของนายจรูญ นวลพลอย เกษตรกรบ้านห้วยทรายเหนือ ซึ่งเป็นแปลงเกษตรแบบผสมผสานที่ปลูกพืชให้ผลและพืชผักในพื้นที่ 21 ไร่ แบบอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมีหญ้าแฝกแซมในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อช่วยรักษาหน้าดิน และพบว่ามีประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนหลายประการ เช่น เมื่อขุดสระแล้วเอาหญ้าแฝกมาปลูกที่ขอบสระก็จะช่วยป้องกันการพังทลายของขอบสระได้ บริเวณที่ลาดเอียงก็ช่วยไม่ให้น้ำฝนชะล้างหน้าดิน และสามารถใช้ใบหญ้าแฝกมาปิดตามโคนต้นไม้ที่ปลูกแล้วเอาปุ๋ยคอกปิดทับอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเกิดการย่อยสลายก็จะเป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับต้นไม้ ทำให้ดินร่วนซุยขึ้น มีหน้าดินเพิ่มขึ้น พืชสามารถหาอาหารได้ดีขึ้น การเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีก็ตามมา ซึ่งเป็นวิธีการปรับปรุงบำรุงดินได้เป็นอย่างดี อีกประการก็คือสามารถเก็บเกี่ยวใบอ่อนของหญ้าแฝกไปเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย

"ตอนนี้ผมอายุ 60 ปีแล้ว มีลูกอายุ 30 และมีหลาน ได้สอนหลานให้รู้จักหญ้าแฝก และประโยชน์จากหญ้าแฝก โดยสอนเขาว่าปู่ได้เอาหญ้าแฝกตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปลูก จนได้รับประโยชน์อย่างที่เห็นในตอนนี้ ก็เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้รับรู้ว่าครั้งหนึ่งในหลวงท่านได้แนะนำให้ใช้หญ้าแฝกมาเป็นประโยชน์กับเกษตรกรแบบตามธรรมชาติ ช่วยให้การเพาะปลูกใช้ต้นทุนต่ำเพราะไม่ต้องอาศัยสารเคมีมาเป็นตัวช่วยในการบำรุงดินและต้นพืช และดีต่อสิ่งแวดล้อม" นายจรูญ นวลพลอย กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(