เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) ดำเนินการ เพื่อพัฒนาเป็น "ต้นแบบความสำเร็จ" ของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนตลอดจนเกษตรกรและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำ ใช้ในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม รวมไปถึงพัฒนาคนบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง ให้สามารถประสานการทำงานร่วมกับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายชุมชนสามารถใช้แผนที่และข้อมูลสารสนเทศในการวางแผนและบริหาร จัดการน้ำให้มีน้ำพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และการเกษตรสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ของชุมชน
ดร.สุวิทย์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ พบว่าเดิม ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแตประสบกับปัญหาน้ำแล้งน้ำหลากซ้ำซากรวมทั้งแหล่งน้ำสาธารณะขาดการดูแลและไม่มีระบบบริหารจัดการมานานมากกว่า 50 ปี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก.ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาบริหารจัดการในปี 2554 ร่วมกับชุมชน ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.จัดทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า จัดทำแผนที่ ผังน้ำ สมดุลน้ำในพื้นที่ จัดทำข้อมูลค่าระดับของพื้นที่ 2.จัดทำระบบน้ำเพื่ออุปโภคและการเกษตร ทำระบบคลองดักน้ำหลากและสระแก้มลิง ปรับปรุงและสร้างฝายกักเก็บน้ำเชื่อมต่อถังพักน้ำเพื่อการเกษตรอุปโภค จัดทำระบบกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรตามแรงโน้มถ่วง 3.ปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูก เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ และ 4.ติดตั้งระบบติดตามสถานการณ์น้ำและอากาศ ติดตั้งระบบโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ
"การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบนสภาพพื้นที่สูงลอนคลื่นของชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต สามารถกักเก็บ สำรองน้ำ และบรรเทาน้ำหลาก เกิดเป็นกองทุนสระแก้มลิงจากการขุดลอกคลองดักน้ำหลากและคลองซอยกระจายน้ำเข้าสู่สระแก้มลิง ชุมชนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองในด้านการบริหารจัดการน้ำ วางแผนขุดลอกคลองดักน้ำหลากและคลองซอยเชื่อมต่อคลองส่งน้ำเดิมในพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 417,493 ลูกบาศก์เมตร และมีการดำเนินงานตัวอย่างทฤษฏีใหม่ ใน 67 ครัวเรือนนำร่อง สามารถสร้างรายได้เพิ่มกว่า 3.22 ล้านบาทต่อปี ก่อนขยายกลายเป็น 13 หมู่บ้าน ของทั้งตำบลแวงน้อย พัฒนาเป็นศูนย์เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำชี 7 ตำบลข้างเคียง ในจังหวัดขอนแก่น และ 10 จังหวัดลุ่มน้ำชี ณ ปัจจุบัน ที่มีความมั่นคงด้านน้ำและอาหาร เพราะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี และสร้างผลิตผลทางการเกษตรให้กับชาวบ้านปีละกว่า 12 ล้านบาท สู่การได้รับการคัดเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริแห่งล่าสุดของประเทศไทย" ดร.สุวิทย์ กล่าวและว่า
ที่สำคัญ ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ขยายผลการบริหารจัดการน้ำไปแล้ว จำนวน1,478 หมู่บ้านทั่วประเทศ ดังนั้นจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้นำ และ องค์กรเครือข่ายน้ำ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพชุมชนในการขยายผลต้นแบบการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริไปสู่พื้นที่อื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศต่อไป เพื่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ นำพาภาคเกษตรให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนให้ได้ ตามโครงการอีสาน 4.0 พลิกโฉมประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit