พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรปและเดินทางเยือนประเทศนอร์เวย์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 หรือเมื่อ 111 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและนอร์เวย์ การเสด็จประพาสนอร์เวย์ครั้งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และส่งผลต่อความก้าวหน้าทางนวัตกรรมของไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระประสงค์ที่จะศึกษานวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาประเทศไทย และได้ทอดพระเนตรเห็นความเชี่ยวชาญด้านการประมงของชาวนอร์เวย์ เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนโดยการสกัดไนโตรเจนจากอากาศ และการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำจากเขื่อน
ปัจจุบันนอร์เวย์ถือเป็นผู้นำระดับโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการผลิตพลังงานหมุนเวียน และเนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับนอร์เวย์มาช้านาน เราจึงได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ในหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ
ฟาร์มแซลมอนธรรมชาติ
"ส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากภูมิประเทศที่เป็นเช่นนี้ คือประเทศนี้หันหน้าออกสู่มหาสมุทรใหญ่อย่างยิ่ง คือแอตแลนติก อาจจะมีคลื่นลมที่แรงเกินประมาณ และมีสัตว์ใหญ่ในน้ำเช่นปลาวาฬ ซึ่งกินปลาเล็กเป็นอาหาร เมื่อพายุใหญ่หนักขึ้นฤาปลาวาฬใหญ่กวนหนัก ข้างนอกปลาเล็กๆก็หนีเข้ามาในฟยอร์ด เมื่อปลาหลบเข้าไปอยู่ในฟยอร์ดได้แล้ว ก็เป็นน้ำสงบนิ่ง ใช่แต่เท่านั้น ยังได้กระแสน้ำซึ่งตกลงมาในฟยอร์ด อันปลาโดยมากชอบจะว่ายทวนกระแสเป็นอาหาร เหตุฉะนั้นตามฝั่งทเลนอร์เวย์นี้เป็นที่ทำปลาบริบูรณ์อย่างยิ่งทั่วไปตลอดอาณาเขต"
นอร์เวย์มีแนวชายฝั่งทะเลยาวจากตอนเหนือและบรรจบยังตอนใต้ของประเทศ ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามรายล้อมด้วยน้ำทะเลสะอาดบริสุทธิ์ สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ชาวนอร์เวย์พัฒนาเทคโนโลยีการทำฟาร์มเลี้ยงปลาในธรรมชาติขึ้นในช่วงคริสตศักราชที่ 1970-1979 และทะยานขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลกอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนอร์เวย์เป็นประเทศผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแซลมอนเป็นอันดับหนึ่งของโลก การเป็นประเทศติดชายฝั่งที่มีน้ำทะเลเย็นและใสสะอาด เหมาะกับการดำรงชีวิตของแซลมอนทำให้นอร์เวย์กลายเป็นแหล่งการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ของปลาต่างๆ สิ่งนี้นำไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงของนอร์เวย์ ซึ่งได้แก่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการประมงที่ยั่งยืนรวมไปถึงความมุ่งมั่นในการผลิตอาหารทะเลที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้บริโภค ชาวนอร์เวย์เลี้ยงแซลมอนในทะเลตามธรรมชาติ ปลาเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างอิสระในกระชังขนาดมหึมา ที่ได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อสภาพอากาศทุกรูปแบบถึง 50 ปี นอกจากนี้ กระชังแซลมอนยังมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดหลายจุดเพื่อช่วยให้ชาวประมงสังเกตพฤติกรรมของแซลมอน และยังป้องกันอันตรายต่างๆ รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดอื่นภายนอกกระชัง แซลมอนนอร์เวย์ถูกเลี้ยงด้วยอาหารปลาที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้มาตรฐานการรับรองจากสหภาพยุโรป แซลมอนจึงไม่มีพยาธิในลำไส้ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี และด้วยการพัฒนาวัคซีนให้กับแซลมอน จึงทำแซลมอนนอร์เวย์แทบจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ การเลี้ยงดูแซลมอนด้วยการคำนึงสุขภาพปลาทำให้แซลมอนเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจในการทำฟาร์มแซลมอนของชาวนอร์เวย์ คือเครื่องกำจัดเห็บปลา (thermolicer) เครื่องนี้ทำงานโดยการลำเลียงแซลมอนเข้าเครื่องผ่านน้ำอุ่น อุณหภูมิของน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุณหภูมิของน้ำทะเลจะกำจัดเห็บให้หลุดออกจากผิวหนังโดยไม่เป็นอันตรายต่อปลา กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้คือหลักฐานพิสูจน์ความตั้งใจของชาวนอร์เวย์ ประเทศที่ผลิตแซลมอนที่มีคุณภาพสูงสุดจากการทำประมงแบบยั่งยืน ทำให้ชาวไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าแซลมอนนอร์เวย์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับประทานแซลมอนที่สดที่สุด ส่งตรงทางเครื่องบินจากนอร์เวย์ทุกวัน
การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนจากอากาศ
"เดี๋ยวนี้กำลังเกิดวิชาใหม่ด้วยอาศัยแรงน้ำนี่ คือกลั่นไนเตรตธาตุอย่างหนึ่งออกจากลมอากาศ โดยทำหลอดใหญ่ให้ลมเดินในนั้นแล้วเอาไฟฟ้าเผาลมให้ไนเตรตลงในปูนศิลาขาว นำไปใช้เป็นปุ๋ย"
นอร์เวย์เป็นผู้บุกเบิกการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนด้วยพลังงานน้ำในปี พ.ศ. 2448 เพียงสองปีก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสนอร์เวย์ ปุ๋ยไนโตรเจนนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันตับต้นๆ ในตลาดอุตสาหกรรมปุ๋ยของโลก โดยมีการผลิตถึง 450 ล้านตันต่อปี ระหว่างการเสด็จประพาสนอร์เวย์ในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำตัวอย่างปุ๋ยไนโตรเจนกลับมาศึกษายังประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าปุ๋ยไนโตรเจนของนอร์เวย์รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ปุ๋ยไนโตรเจนมีหลากหลายรูปแบบ ส่วนมากผลิตโดยการทำปฏิกิริยาระหว่างก๊าซธรรมชาติ กับไนโตรเจนที่อยู่ในอากาศในสภาวะที่มีอุณหภูมิและแรงดันสูง ได้ผลลัพธ์เป็นแอมโมเนียที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยได้ นอร์เวย์ดำเนินแนวทางในการทำอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการใช้พลังงานน้ำในการสกัดไนโตรเจนจากอากาศเพื่อผลิตปุ๋ย ในปี พ.ศ. 2560 ไทยนำเข้าปุ๋ยจากนอร์เวย์คิดเป็นมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3,600 ล้านบาท
แผงกันน้ำท่วม
"ขึ้นจากที่นั้นไปด้วยรถอีก ทางสักสิบมินิตเห็นจะได้ ถึงที่น้ำตกอีกชั้นหนึ่ง สูง ๑๕ วา ที่นี่ข้างหนึ่งเขาได้ทำเป็นทางดาดด้วยปูนเสมอระดับน้ำข้างบนแล้วเทลงมาให้ไม้ซุงเลื่อนลงมาได้ อีกซีกหนึ่งก่อเขื่อนกันช่องกระแสน้ำ ให้ลงมาพัดหมุนเครื่องไฟฟ้าสี่เครื่อง เป็นกำลัง ๖๐๐ แรงม้า ได้ไปดูมีคนทำงานอยู่ในนั้นสามคนเท่านั้น ช่างถูกเสียที่สุดแล้ว"
การที่นอร์เวย์ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำจากเขื่อนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นอร์เวย์เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแผงกันน้ำท่วม หรือ "flood wall" ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของนอร์เวย์ ที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ป้องกันความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลาก แผงกันน้ำท่วมที่ประกอบและถอดได้ง่ายนี้ เป็นเทคโนโลยีที่นอร์เวย์พัฒนาขึ้นร่วมกับ Norwegian University of Life Sciences และเนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เกิดอุทกภัยอยู่บ่อยๆ จึงได้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย
นวัตกรรมแผงกันน้ำท่วมประกอบด้วยชิ้นส่วนของแผงที่ถอดได้ที่ผู้ใช้สามารถนำมาประกอบได้อย่างรวดเร็ว สะดวกต่อการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์น้ำท่วม แผงกันน้ำท่วมเหล่านี้สามารถถอดและพับเก็บได้ทำให้ประหยัดเนื้อที่ และได้รับการออกแบบให้สามารถกันน้ำได้สูงถึงแปดฟุต แผงกันน้ำท่วมมีส่วนประกอบได้แก่สเตนเลส แผ่นลามิเนต อะลูมิเนียม และผ้าใบกันน้ำ นวัตกรรมนี้ไม่จำเป็นต้องมีการติดตั้งชิ้นส่วนที่เป็นฐานแบบถาวร จึงทำให้ง่ายต่อการประกอบและจัดเก็บ
เกี่ยวกับสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ เป็นบริษัทมหาชนภายใต้กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และการประมง และเป็นสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลแห่งเดียวของโลก โดยทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของนอร์เวย์ เพื่อพัฒนาและขยายตลาดอาหารทะเลส่งออกจากนอร์เวย์ และเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศ โลโก้เทรดมาร์ค SEAFOOD FROM NORWAY เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอาหารทะเลคุณภาพสูงจากนอร์เวย์ ซึ่งรวมทั้งแบบเพาะเลี้ยงและที่จับจากธรรมชาติในน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit