จากสมาร์ทโฟนสู่รถยนต์ ฟอร์ด เตรียมทดลองนำสุดยอดวัสดุแห่งอนาคต “กราฟีน” ช่วยเสริมสมรรถนะชิ้นส่วนรถยนต์

02 Nov 2018
- กราฟีน คือวัสดุที่นำมาใช้ในการเคลือบหรือฉาบผิว มักใช้กับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ทางการกีฬาบางชนิด โดยเร็วๆ นี้ ฟอร์ด จะนำกราฟีนมาใช้กับยานพาหนะเป็นครั้งแรกในวงการยานยนต์
จากสมาร์ทโฟนสู่รถยนต์ ฟอร์ด เตรียมทดลองนำสุดยอดวัสดุแห่งอนาคต “กราฟีน” ช่วยเสริมสมรรถนะชิ้นส่วนรถยนต์
  • ฟอร์ด ร่วมกับอีเกิล อินดัสทรีและเอ็กซ์จี ไซแอนซ์ ค้นพบวิธีที่จะนำวัสดุกราฟีนมาใช้ในปริมาณที่น้อยนิดแต่ช่วยเสริมสมรรถนะรถยนต์ได้อย่างมหาศาล ให้รถมีน้ำหนักที่เบาขึ้น การป้องกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงลดเสียงรบกวนให้น้อยลง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของการใช้งานในด้านยานยนต์
  • ภายในรถยนต์ ฟอร์ดจะนำวัสดุกราฟีนซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่ความแข็งแกร่งสูงมาใช้งาน โดยให้มีลักษณะเหมือนหูฟังทรงประสิทธิภาพที่สามารถลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร ให้ทุกการเดินทางเงียบสงบและมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประกาศ เตรียมนำวัสดุระดับนาโนสองมิติ กราฟีน มาใช้ในงานชิ้นส่วนยานพาหนะเป็นครั้งแรกของวงการยานยนต์ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์กีฬาบางชนิดก็เคยใช้กราฟีนเป็นส่วนประกอบมาแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา กราฟีน ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการนำมาใช้ในงานทาสี พอลิเมอร์และแบตเตอรี่รถยนต์ต่างๆ

วิศวกรหลายคน ขนานนามว่ากราฟีนเป็น "วัสดุสุดมหัศจรรย์" ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแกร่งว่าเหล็กถึง 200 เท่าและเป็นหนึ่งในวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ดีที่สุดโลก สามารถกันเสียงได้เป็นอย่างดี รวมถึงบางและมีความยืดหยุ่นสูงมาก ที่ถึงแม้จะมีราคาสูงและไม่ได้เหมาะกับทุกการใช้งาน แต่ฟอร์ด ร่วมกับอีเกิล อินดัสทรีและเอ็กซ์จี ไซแอนซ์ สามารถค้นพบวิธีที่จะนำกราฟีนมาใช้งานกับฝาครอบราวหัวฉีด ฝาครอบปั๊ม และฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหน้าเพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้งานสูงสุดต่อรถยนต์

"การค้นพบครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับวัสดุกราฟีนเป็นหลัก ที่สำคัญคือวิธีการที่เรานำมันมาใช้งาน" เด็บบี้ มิลิวสกี้ หัวหน้าอาวุโสฝ่ายเทคนิค ความยั่งยืนและวัสดุใหม่ของฟอร์ด กล่าว "ปริมาณของกราฟีนที่เรานำมาใช้นั้นน้อยมาก น้อยกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แต่มันช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรถยนต์ รวมถึงสามารถกันเสียงและลดน้ำหนักของรถให้เบาลง ซึ่งเป็นสิ่งที่รถยนต์คันอื่นๆ ในตลาดยังไม่ได้ให้ความสำคัญ"

กราฟีน คืออะตอมของคาร์บอนที่หนาเพียง 1 ชั้น ซึ่งหากเรานำมันมาวางซ้อนกันหลายๆ ชั้นก็จะได้แกรไฟต์ที่เรารู้จักกันดีในรูปของไส้ดินสอนั่นเอง กราฟีนถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2547 แต่การพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก โดยการทดลองแรกที่สามารถแยกกราฟีนให้ออกมาได้อย่างสำเร็จ เกิดจากการเอาสก๊อตช์เทปทาบลงบนแกรไฟต์แล้วดึงออกครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้แผ่นแกรไฟต์บางลงเรื่อยๆ จนได้แผ่นที่บางที่สุดแค่อะตอมเดียวจนได้เป็นกราฟีน การทดลองนี้ชนะรางวัลโนเบลใน 6 ปีถัดมาหรือปี 2553 นั่นเอง

ในปี 2557 ฟอร์ด เริ่มทำการศึกษาวัสดุกราฟีน เพื่อนำมาทดลองใช้ในชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ เช่น ฝาครอบราวหัวฉีด ฝาครอบปั๊ม และฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหน้า รวมถึงพยายามลดเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร ซึ่งโดยปกติ การเพิ่มคุณสมบัติเหล่านี้จะต้องใช้วัสดุมากขึ้นทำให้ตัวรถมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อนำกราฟีนมาใช้ก็พบว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นต่างออกไป"กราฟีนในปริมาณที่น้อยนิดพาเราไปได้ไกลกว่าที่คิด และในกรณีนี้ มันช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการดูดซับเสียงได้เป็นอย่างดี" จอห์น บูล ประธานอีเกิล อินดัสทรี กล่าว

กราฟีนถูกนำมาผสมโดยมีโฟมเป็นส่วนประกอบ ฟอร์ดและซัพพลายเออร์ได้ทำการทดสอบและพบว่าเสียงรบกวนลดลงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การพัฒนาคุณสมบัติด้านเครื่องกลเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และการพัฒนาคุณสมบัติในการทนความร้อนเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบจากโฟมที่มีกราฟีนผสมอยู่ด้วย

"เราตื่นเต้นที่ได้เห็นผลิตภัณฑ์ของเราสร้างประโยชน์ให้กับฟอร์ดและอีเกิล อินดัสทรี" ฟิลลิป โรส ประธานกรรมการบริหารเอ็กซ์จี ไซแอนซ์ กล่าว "การได้ทำงานร่วมกับผู้พัฒนารายแรกๆ อย่างฟอร์ด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกราฟีนในแง่ของการใช้งานที่หลากหลาย และเราหวังว่าจะสามารถต่อยอดการทำงานร่วมกันนี้ไปยังวัสดุประเภทอื่นๆ เพื่อการพัฒนาอีกหลากหลายด้านต่อไปในอนาคต"

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟอร์ด ได้ทดสอบและพยายามพัฒนาวัสดุ "มหัศจรรย์" หลากหลายประเภทเพื่อเอามาใช้ในงานด้านการออกแบบ สมรรถนะ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของยานพาหนะทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก หนึ่งในนั้นคือ เส้นไนล่อนคุณภาพสูงจากโรงงานเสื้อผ้าและพรม ทีมงานนำมาใช้กับใบพัดพัดลมของฟอร์ด โฟกัส และ ฟอร์ด เอสคอร์ท โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์โดยใช้ประโยชน์จากเส้นไนล่อน (หรือที่เรียกว่าเส้นด้าย) เหลือใช้ ซึ่งคิดเป็น 1-3 เปอร์เซ็นต์ของเส้นด้ายทั้งหมดที่ใช้ในบางโรงงาน ฟอร์ดช่วยเก็บเส้นด้ายกว่า 700,000 กิโลเมตรจากที่เก็บขยะทุกๆ ปีทั่วเอเชียแปซิฟิกมาใช้งานต่อได้ ระยะทางนี้เกือบเท่ากับการเดินทางไปกลับจากโลกถึงดวงจันทร์ได้เลยทีเดียว

ฟอร์ดยังใช้ชิ้นส่วนบางชิ้นจากเครื่องซักผ้าที่มีความทนทานและเลือกมาแล้วอย่างดี มาทำเป็นแผ่นปรับทิศทางลมที่ติดตั้งอยู่ใต้พื้นรถเพื่อช่วยลดแรงต้านอากาศและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเชื้อเพลิง ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของเจ้าของรถได้อีกแรง ฟอร์ดยังใช้ผ้าบุที่นั่งจากเส้นใยของแบรนด์ REPREVE ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงขวดพลาสติก โดยการทดสอบนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เช่นในวัสดุที่มีคุณสมบัติแข็งแกร่งและยั่งยืน เช่น ไม้ไผ่ ซึ่งมีคุณภาพทัดเทียมหรือดีกว่าโลหะบางชนิดเลยทีเดียว

คาดว่าจะมีการนำกราฟีนไปใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ในช่วงสิ้นปีนี้ โดยจะนำมาใช้กับชิ้นส่วนของฟอร์ด เอฟ-150, มัสแตง รวมถึงรุ่นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลเกี่ยวกับฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี

ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยธุรกิจของบริษัท ได้แก่ การออกแบบ ผลิต ทำการตลาด และบริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ รถกระบะ รถเอสยูวี รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในแบรนด์ฟอร์ด และแบรนด์ลินคอล์น ซึ่งเป็นแบรนด์ในตลาดรถหรู รวมถึงให้บริการด้านการเงินผ่านบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต และบริษัทกำลังเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และแผนการสัญจรอัจฉริยะ ฟอร์ดมีพนักงานรวมประมาณ 201,000 คนทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟอร์ด ผลิตภัณฑ์ของฟอร์ด และฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ www.corporate.ford.com

จากสมาร์ทโฟนสู่รถยนต์ ฟอร์ด เตรียมทดลองนำสุดยอดวัสดุแห่งอนาคต “กราฟีน” ช่วยเสริมสมรรถนะชิ้นส่วนรถยนต์ จากสมาร์ทโฟนสู่รถยนต์ ฟอร์ด เตรียมทดลองนำสุดยอดวัสดุแห่งอนาคต “กราฟีน” ช่วยเสริมสมรรถนะชิ้นส่วนรถยนต์