กิจกรรมพบปะนักลงทุนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 ช่วง สำหรับการพบปะนักลงทุนทั้งหมด 5 กลุ่ม รวม 20 ราย โดยเป็นนักลงทุนจาก 1) บริษัท Daiwa Asset Management 2) บริษัท UBS 3) บริษัท Saga Tree Capital 4) บริษัท Franklin Templeton Investments 5) บริษัท Amundi 6) บริษัท Daiwa SB Investment Singapore 7) บริษัท CLSA และ 8) บริษัท Credit Suisse
นายสุวิชญฯ ได้นำเสนอถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจสามารถขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 และ 4.6 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการส่งออกทั้งสินค้าและบริการ รวมทั้งเริ่มมีสัญญาณการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดี พร้อมทั้งมีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูง ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง มีอัตราการว่างงานต่ำ หนี้สาธารณะอยู่ในกรอบที่กำหนด และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ จึงทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 (ประมาณการ ณ เดือนกรกฎาคม 2561)
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอนโยบายสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล เช่น 1) ยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทยให้สอดรับกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล 2) แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อยกระดับศักยภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย 3) นโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งจะช่วยจุดประกายการเติบโตเศรษฐกิจรอบใหม่ 4) มาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนที่สำคัญ เช่น PPP Fast Track และ Thailand Future Fund รวมถึง 5) โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 6) การประมูลพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเดือนกันยายน และ 7) พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งช่วยรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง
นักลงทุนได้ให้ความสนใจในหลายประเด็น ทั้งสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ระดับหนี้ครัวเรือนกับผลกระทบต่อการบริโภค ภาคการท่องเที่ยวและการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน ราคาอสังหาริมทรัพย์ และสภาวะเศรษฐกิจภายนอกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ได้แก่ ผลกระทบจากสงครามการค้า และผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้ความสนใจต่อนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายที่จะเชื่อมโยงไทยเข้ากับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน ความต่อเนื่องของการพัฒนา EEC ในอนาคต ความถี่ของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ และรูปแบบการเก็บภาษีธุรกิจ e-Commerce ที่มีลักษณะข้ามพรมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมาตรการรับมือสังคมผู้สูงอายุของไทยก็เป็นประเด็นด้านความท้าทายที่นักลงทุนให้ความสำคัญเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมองว่า ไทยควรหามาตรการสร้างกระจายรายได้เข้าไปในพื้นที่ชนบทขณะเดียวกันไทยควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายเพื่อลดการพึ่งพาบางภาคส่วนมากจนเกินไป ได้แก่ การท่องเที่ยว โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของสาธาณรัฐสิงคโปร์ว่าสามารถหันมาพึ่งพาความต้องการภายในประเทศให้มากขึ้น โดยพัฒนาอุตสาหกรรมด้านชีวเคมี หุ่นยนต์ และ FinTech เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าสถานการณ์การย้ายฐานการผลิตของจีนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นโอกาสทางธุรกิจของไทยเนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบ โลจิสติกส์ที่พร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3253
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit