ธรรมศาสตร์ โชว์ 3 นวัตกรรม ยกระดับสินค้าทางการเกษตรไทย พร้อมผนึกกำลังตลาดไท แลกเปลี่ยนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาสู่ระดับสากล

07 Sep 2018
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โชว์ 3 นวัตกรรม ยกระดับผู้มีส่วนร่วมในวงจรการผลิตสินค้าทางการเกษตร อาทิ เกษตรกร ผู้ขายและผู้บริโภค ได้แก่ 1) นวัตกรรมแถบสีบอกความสุกผลไม้และนวัตกรรมชะลอการสุกมะม่วง นวัตกรรมลดอัตราการเสียหายของสินค้าการเกษตรเมื่อวางจำหน่าย 2) แอปพลิเคชัน ออร์แกนิค แอปฯตรวจสอบสินค้าคุณภาพสินค้าการเกษตร และ 3) ฟิล์ม ทู ฟลาย นวัตกรรมยืดอายุผลไม้เพื่อการส่งออก พร้อมผนึกกำลังกับตลาดไท แลกเปลี่ยนข้อมูล บุคลากรและนักวิจัย เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตั้งเป้าใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมยกระดับผลผลิตทางการเกษตรไทย ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) ได้จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news
ธรรมศาสตร์ โชว์ 3 นวัตกรรม ยกระดับสินค้าทางการเกษตรไทย พร้อมผนึกกำลังตลาดไท แลกเปลี่ยนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาสู่ระดับสากล

ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลจากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม อันหมายถึงพืช ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ทั้งในรูปแบบอาหารสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยในช่วงเดือน 7 เดือนแรก ของปี 2561 ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากส่งออกสินค้าเกษตรกรรมได้กว่า 4.2 แสนล้านบาท เพื่อรักษาการสร้างรายได้ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศจากสินค้าในกลุ่มนี้ มธ. จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับผู้มีส่วนร่วมในวงจรการผลิตสินค้าทางการเกษตร อาทิ เกษตรกร ผู้ขายและผู้บริโภค อย่างต่อเนื่อง ดังเช่น 3 นวัตกรรม ดังต่อไปนี้

1. นวัตกรรมแถบสีบอกความสุกผลไม้ (Bio-ripeness indicator) และนวัตกรรมชะลอการสุกมะม่วง โดย รศ.ดร.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. นวัตกรรมลดอัตราการเสียหายของสินค้าการเกษตรเมื่อวางจำหน่าย จากการถูกบีบหรือกดในการเลือกซื้อ และยกระดับคุณภาพสินค้าทางการเกษตรสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย สารละลายกระตุ้นการสร้างสารสีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll supplement) ให้มีปริมาณที่มากขึ้น พร้อมชะลอการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สลายคลอโรฟิลล์ในมะม่วง สามารถชะลอการสุกได้สูงถึง 30 วัน โดยที่ไม่ทิ้งสารตกค้าง ถุงห่อแอคทีฟ (Active Bag) ทีมีช่องให้แสงผ่านพลาสติก เพื่อให้เกิดการสร้างคลอโรฟิลล์ได้มากที่สุด และแถบสีอินดิเคเตอร์ (Indicator) แถบสีแสดงการสุกของเนื้อมะม่วงใน 4 ระยะ คือ สีเขียว-เนื้อมะม่วงที่ยังดิบ สีเหลืองอ่อน-เนื้อมะม่วงที่เริ่มสุก สีเหลือง-เนื้อมะม่วงที่พร้อมรับประทาน และ สีเหลืองเข้ม-เนื้อมะม่วงที่สุกเกินมาตรฐาน

2. แอปพลิเคชัน ออร์แกนิค (Organic Ledger) โดย ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ จากสาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. แอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ชื่อเกษตรกร ชื่อฟาร์มและสถานที่ตั้ง ช่องทางการติดต่อ ขั้นตอนการเพาะปลูกของเกษตรกร รวมถึงวันและเวลาที่เก็บเกี่ยวอย่างชัดเจน พร้อมตรวจสอบลักษณะของผลผลิตดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ตามฐานข้อมูลของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยหรือไม่ นอกจากนี้ทางนักวิจัย มธ. ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกขั้น โดยการออกใบรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับฟาร์มหรือผู้ผลิตที่มีผลิตสินค้าทางการเกษตรแบบไร้สารปนเปื้อน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงง่าย ๆ ได้เพียงการแสกน คิวอาร์ โค้ด (QR Code) ที่จะแปะอยู่กับสินค้า

3. ฟิล์ม ทู ฟลาย (Film to Fly) โดย ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ จากสาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ร่วมกับนางสาวพรรณวดี จันทร์ทอง นักศึกษา สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าทางเกษตร โดยเป็นนวัตกรรมชะลอความสุกพืชผลเกษตรจากใบยี่หร่า ชะลอสุก "กล้วยหอม" นาน 2 เดือน ด้วยเทคนิคการเคลือบแบบบริโภคได้ (Edible Coating) โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง พร้อมรักษาสภาพผิวให้สวยงาม และป้องกันการเกิดโรคขั้วหวีเน่าในผลผลิตได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่ง เพียงชุบในสาร 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ชะลอสุกได้กับมะละกอ และมะม่วงน้ำดอกไม้อีกด้วย

ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวเสริมว่า แม้การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร จะเป็นสิ่งที่ มธ. ทำมาโดยตลอด แต่เพื่อการส่งเสริมและยกระดับนักวิจัยของ มธ. จึงเป็นที่มาของการร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่าง มธ. และบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด หรือตลาดไท โดยมีเป้าประสงค์เพื่อ 1) สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 2) แลกเปลี่ยนข้อมูล บุคลากรและนักวิจัยของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และ 3) เชื่อมโยงเครือข่ายและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลวิจัยและนวัตกรรมไปใช้จริง ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเพิ่มพูนองค์ความรู้ของนักวิจัยทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ นักวิจัย มธ. จะมีโอกาสได้สัมผัสปัญหาและความต้องการของผู้ค้า ตลอดจนกระบวนการการจัดการที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริง และนักวิจัยของตลาดไทนั้น สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาคุณภาพการดูแลพื้นที่และให้บริการของตลาดไท ทั้งนี้ การร่วมมือในครั้งนี้ยังคงมีเป้าหมายในการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยของ มธ. ที่มุ่งมั่นสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติในทุกด้าน

ขณะที่ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) กล่าวว่า "ตลาดไท" เรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการเป็น "ตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจร" ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยดำเนินธุรกิจค้าส่งเคียงคู่คนไทย และสนับสนุนเกษตรกรไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานถึง 21 ปี และเดินหน้าด้วยความมุ่งมั่นในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสินค้าเกษตร ผู้ค้า และเกษตรกรร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีความหลากหลายจากทั่วประเทศไทยและเกือบทุกมุมโลกผ่านตลาดไท ทั้งนี้มีสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดไทถึง 12,000 ตันต่อวัน สนับสนุนเกษตรกรกว่า 200,000 คน และมีมูลค่าการค้าถึง 1.8 แสนล้านบาทต่อปี ตอกย้ำความแข็งแกร่งของตลาดไทในฐานะตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรใหญ่ที่สุดในอาเซียน แนวทางดังกล่าวจึงสอดรับกับภารกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการส่งเสริม สนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องตลอดจนบุคลากรของทั้งสองฝ่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพและพัฒนาธุรกิจในด้านต่าง ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตลาดไท สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับ มธ. ในครั้งนี้ เรามีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดโดยตรงทั้งแก่ผู้ประกอบการไทย เกษตรกรไทย และสังคมไทยได้อย่างแท้จริง อีกทั้งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถช่วยขับเคลื่อนงานด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของ มธ. ให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นจริงได้ต่อไป

ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) ได้จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีตัวแทนจากทั้ง 2 ฝ่าย เข้าร่วมลงนามเป็นจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news

HTML::image( HTML::image( HTML::image(