ล่าสุด เมื่อวันที่ 27และ28 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงาน กปร. ได้จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง "การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ครั้งที่ 7 ขึ้น ซึ่งได้จัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับหญ้าแฝกตลอดจนบุคคลทั่วไปได้แลกเปลี่ยนความรู้แสดงความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งนำเสนอผลงานและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกไปสู่สาธารณชนให้ได้รับทราบ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 7 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. กล่าวว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 และได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง รวม 31 ครั้ง สำนักงาน กปร. และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริทั้งด้านการศึกษา ทดลอง วิจัยเกี่ยวกับหญ้าแฝก การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีผลการดำเนินงานก้าวหน้าเป็นลำดับ
"สำหรับการจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับหญ้าแฝกนำเสนอผลงานทางวิชาการ ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้แลกเปลี่ยนความรู้ แสดงความคิดเห็นปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งนำเสนอผลงานและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกไปสู่สาธารณชนให้ได้รับทราบ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 7 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–29 ตุลาคม 2563 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย" เลขาธิการ กปร. กล่าว
ทางด้านนายพัฒน์พงษ์ สมิตติพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ หนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ เปิดเผยถึงแนวทางในการดำเนินงานของกรมป่าไม้ว่า ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม สร้างป่า สร้างรายได้ ภายใต้โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการสนับสนุนให้กลุ่มราษฎรร่วมกันปลูกแฝกแบบขยายพันธุ์เพิ่มเติม เพื่อขยายผลในการปลูกสำหรับปีต่อ ๆ ไป การปลูกแฝก 1 ต้น จะสามารถแตกออกเป็น 20 ต้น ในปีต่อไป เบื้องต้นก็แนะนำและสอนให้ราษฏรเข้าใจในวิธีการขยายพันธุ์แบบนี้ และเน้นให้ปลูกในพื้นที่ทำกินของราษฎรเอง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สูงชัน
"เราดำเนินงานในลักษณะสร้างป่า สร้างรายได้ โดยใช้ในเรื่องการปลูกไม้หลายๆ ระดับ หลายๆ ชนิด มีทั้งไม้เรือนยอดสูงลดหลั่นกันลงมา ร่วมกับการปลูกแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยในปีแรกที่ 1 ให้มีการปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวเพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินในระยะเริ่มแรก เพื่อทำหน้าที่ป้องกันการพังทลายของดินและน้ำผิวดิน ซึ่งหญ้าแฝกเป็นหญ้ามหัศจรรย์มีระบบรากที่ลึก เมื่อเราปลูกหญ้าแฝกในปีแรก หญ้าแฝกจะพัฒนารากลงไปยึดดิน และก็ตรึงดินยึดอยู่กับพื้นที่ ทำให้สารอาหารไม่ไหลไปตามการชะล้างของน้ำ ซึ่งจะทำให้การปลูกต้นไม้ด้วยวิธีนี้มีสารอาหารครบถ้วน เราใส่อะไรเข้าไปก็จะอยู่ในพื้นที่ นี่ก็เป็นประโยชน์ที่สามารถเกื้อกูลกันได้ระหว่างการปลูกไม้ป่า การปลูกไม้เกษตรรวมถึงหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งได้ใช้แนวทางการปลูกแฝกควบคู่กันทุกโครงการ ทั้ง 5 จังหวัดพร้อมกับปลูกถั่วมะแฮะของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นพืชปรับปรุงบำรุงดิน เป็นไม้พุ่ม และปลูกไม้ป่าและไม้ผลควบคู่กันไปโดยในปีแรกถั่วมะแฮะจะโตขึ้นมาและให้ผลผลิต ทางกรมพัฒนาที่ดินก็รับซื้อในอัตรากิโลกรัมละ 20 บาท ควบคู่ส่งเสริมการปลูกกล้วย พืชผักสวนครัว โดยเฉลี่ยปีที่ 1 ราษฏรจะมีรายได้ใกล้เคียงกับการปลูกข้าวโพดเช่นที่ผ่านมา และอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเกษตรกรไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องฉีดสาร สุขภาพก็ดี ไม่มีต้นทุน เพียงปีที่ 1 เท่านั้น ไม้ป่าก็โตพร้อมๆ กับพืชให้ผล เช่น กาแฟ เมื่อเข้าปีที่ 2 ก็เก็บผลผลิตขายได้ ส่วนกล้วยก็ขายได้ทุกๆ ปี เมื่อเทียบกับข้าวโพด ปลูกพืชแบบนี้จะได้ราคามากกว่าเดิม ถึง 4-5 พันบาทต่อปี" นายพัฒน์พงษ์ สมิตติพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ยางนา เนื่องจากต้นยางนาระบบรากจะมีไรโซเบียมซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดเห็ดถอบ เห็ดระโงกขาว และเห็ดเผาะ ซึ่งล้วนเป็นเห็ดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและจำหน่ายได้ราคา
เป็นผลผลิตที่ได้จากการปลูกยางนา ทำให้ราษฏรมีรายได้ทุกปี ขณะที่ต้นยางนาก็จะโตขึ้นเป็นไม้ใหญ่ของพื้นที่ เป็นการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ เช่นในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ซึ่งพื้นที่มีความสูงเกิน 800เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟควบคู่กับการปลูกไม้ใหญ่ทั้งให้ผลและไม้ป่าตามระบบวนเกษตร อีกประมาณ 4 ปีข้างหน้าพื้นที่จะมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นที่จะต่างจากปัจจุบันอย่างแน่นอน
ส่วนนายวราห์ นายกต้น เลขานุการเครือข่ายคนรักษ์แฝก เขต 9 ซึ่งมีพื้นที่ในการดำเนินงานรณรงค์การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดสุโขทัย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีแลนสไลด์ที่มีความลาดเทและลาดชันค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีการบุกรุกแพ้วถางป่าเพื่อทำกินของราษฎรมาอย่างต่อเนื่อง ยังผลให้สภาพป่าเสื่อมโทรม เกิดดินถล่มและหน้าดินถูกชะล้างไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้และการปลูกพืชเศรษฐกิจ
"เราส่งเสริมให้มีการปลูกหญ้าแฝกเกือบทุกสายพันธุ์ โดยจะเน้นสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ อย่างเช่นจังหวัดตาก ถ้าโซนที่เป็นที่ดอนจะใช้แฝกดอน แต่ถ้าเป็นที่ลุ่มที่ที่มีน้ำท่วมขังเยอะหรือมีฝนตกบ่อย ๆ ก็จะใช้แฝกดอน
ซึ่งลักษณะกายภาพของพันธุ์แฝกแต่ละพันธุ์จะเหมาะในการปลูกในพื้นที่คนละอย่างกัน ควบคู่กับการขยายพันธุ์แฝกเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของราษฏรในพื้นที่ที่จะนำไปปลูก ซึ่งเครือข่ายใน 1 จังหวัด ก็จะมีแปลงขยายพันธุ์อย่างน้อย 1 แปลง และสามารถนำไปปลูกในพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1 หมื่นไร่ พระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำริเรื่องหญ้าแฝกมาให้พวกเรา และเมื่อน้อมนำมาปฏิบัติใช้ก็พบว่า หญ้าแฝกสร้างคุณประโยชน์มากกว่าที่จะเป็นวัชพืช ดังที่พระองค์พระราชทานพระราชดำริไว้ทุกประการ" นายวรา นายกต้น กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการสืบสาน รักษา ต่อยอด และโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สะท้อนพระราชปณิธานในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริและโครงการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบสานแนวพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ อย่างเช่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สำนักงาน กปร. และส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จังหวัดสกลนครซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเซินกา ทำให้อ่างเก็บน้ำชำรุดน้ำในอ่างไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย พระองค์มีพระราชดำริให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น และโครงการพัฒนาทางด้านแหล่งน้ำอื่น ๆ ตลอดจนพื้นที่ที่เหมาะสมอีกด้วย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit