ในอดีตลำคลองธรรมชาติเป็นสายน้ำที่เชื่อมโยงกัน ใช้เป็นทางสัญจรหลักในการล่องเรือค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนริมน้ำในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ในคลองมีสัตว์น้ำมากมายทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ชุกชุม มีอุปกรณ์ดักปลา ยอ ลอบ ไซฯ ฤดูน้ำหลากมีการล่องแพ ล่องซุง น้ำในคลองใสสะอาด เพราะมีการไหลเวียนของน้ำ ไม่มีสิ่งกีดขวาง ชาวบ้านสามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ แต่หลังจากปี 2520 มีคลองชลประทานและถนนเข้ามา ทำให้ฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติของน้ำเปลี่ยนแปลงไป และทำให้วิถีชีวิตทางเรือค่อยๆ หมดไป ไม่มีการใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ ทำให้ไม่มีการไหลเวียนของน้ำ เกิดวัชพืช เช่นคลองท่ามะเดื่อ คลองตาคต ตั้งแต่ต้นคลองถึงปลายคลองมีผักตบชวาขึ้นรกปกคลุมหนาแน่น การเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนจากการเลี้ยงเพื่อใช้ในการทำนามาเป็นการเลี้ยงแบบฟาร์ม เช่น ฟาร์มโคนม ฟาร์มหมู และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีการปล่อยน้ำเสียลงคลองโดยตรงไม่มีการบำบัดน้ำเสีย
การจัดการของเสียจากฟาร์มโคนม
ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองชลประทาน และคลองสายเล็กๆ มากมาย ทำให้จังหวัดราชบุรี มีน้ำตลอดทั้งปี จึงเป็นเหมาะกับการทำเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ในหลายอำเภอเช่นอำเภอเมือง ,บ้านโป่ง , โพธาราม และบางแพ มีการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงโคนม เนื่องจากมีสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีรับซื้อ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประชาชนในพื้นที่ ทำให้มีการทำฟาร์มโคนมกันเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีการปรับปรุงคอกให้เหมาะสม ในการล้างคอกมีการปล่อยน้ำเสียลงคลองโดยตรงไม่มีการบำบัด ทำให้น้ำในคลองสะสมสิ่งปฏิกูลและเน่าเสียในที่สุด เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีการบำบัดน้ำเสีย อีกปัญหาคือ การเกิดวัชพืชในคลอง ปัญหาที่ตามมา คือ น้ำเสียดังกล่าวส่งผลกระทบไปถึงปลายทางคือคลองดำเนินสะดวก จึงเป็นที่มาของการศึกษาในโครงการวิจัยเพื่อการจัดการฟาร์มเกษตรและฟาร์มโคนมเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียคลองดำเนินสะดวก พื้นที่โซนที่ 3 ภายใต้ชุดโครงการศึกษาปัญหาและรูปแบบการจัดการน้ำและสภาวะแวดล้อมเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจชุมชน คลองดำเนินสะดวก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อปี 2559 เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการของเสียจากฟาร์มโคนม และเพื่อให้เกิดฟาร์มต้นแบบด้านการจัดการของเสียและการใช้ประโยชน์จากของเสียจากฟาร์มโคนม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
นายสงครามนิธิ กิติเจริญนันท์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนาและเลี้ยงวัวสำหรับไถ่นาแต่พอความเจริญเข้ามาชาวบ้านก็เปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรไถ่นา และหันมาเลี้ยงโคนมแทน เพราะมีแหล่งรับซื้อในพื้นที่ แต่การเลี้ยงโคนมที่นี่ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงกันตามบ้านๆ ละ 10-20 ตัว ทำเป็นแบบคอกขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียทำให้น้ำล้างคอกรวมถึงมูลและน้ำปัสสาวะของวัวไหลลงคลองท่ามะเดื่อ และคลองตาคต ซึ่งเป็นคลองสายหลักก่อนจะไหลมาลงคลองดำเนินสะดวกซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำเสียจาก 4 อำเภอ
นอกจากน้ำเสียจากฟาร์มโคนมรายย่อยแล้ว ยังพบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียซึ่งมีส่วนผสมของสารเคมีต่างๆ ลงสู่ลำคลองโดยไม่ได้มีการบำบัด จึงต้องการศึกษาปัญหาการจัดการของเสียจากฟาร์มโคนม ที่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเสียในคลองดำเนินสะดวก และหาแนวทางการจัดการของเสียจากฟาร์มโคม ในพื้นที่โซน 3 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 13 ตำบล ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพธาราม ประกอบด้วย ตำบลท่าชุมพล ตำบลบ้านสิงห์ ตำบลสร้างฟ้า ตำบลคลองตาคต ตำบลดอนกระเบื้อง , อำเภอบ้านโป่ง , อำเภอบ้านโป่ง ประกอบด้วย ตำบลดอนกระเบื้อง ตำบลลาดบัวขาว , อำเภอบางแพ ประกอบด้วย ตำบลบางแพ ตำบลดอนใหญ่ และ อำเภอเมือง ประกอบด้วย ตำบลพงสวาย ตำบลบางป่า ตำบลพิกุลทอง และ ตำบลโคกหม้อ โดยใช้กระบวนการวิจัยร่วมกันระหว่างคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ จิตอาสา ผู้ประกอบการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คน ต้นเหตุของน้ำเสีย
" ด้วยความหวังว่าทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะตอนนี้ธรรมชาติมีแต่จะทรุดลงเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย จากอดีตน้ำเสียบ้านเราไม่เคยมีปัญหามากมายถึงขนาดนี้ แต่ในช่วง 20 ปีหลังมาสถานการณ์น้ำในคลองดำเนินสะดวกเริ่มเสีย ต้นเหตุเกิดจากคน เอะอะอะไร ก็ทิ้งลงคลอง โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะส่งผลกระทบหรือสร้างมลพิษต่อสัตว์น้ำหรือไม่ ตอนนี้สัตว์น้ำบางชนิดก็หายไปแล้ว และต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทำให้เกิดน้ำเสียมาจากหลายปัจจัย รวมถึงการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยน้ำเสีย ภาคการเกษตรที่มีการใช้สารเคมี หรือแม้แต่การเลี้ยงสัตว์หรือฟาร์มปศุสัตว์ที่ไม่มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งลงลำคลอง"
นายสงครามนิธิ กล่าวอีกว่า " คนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง เมื่อก่อนน้ำในคลองดำเนินสะดวกยังนำมาใช้อาบได้ เดี๋ยวนี้ต้องใช้น้ำบาดาลแทน แต่เมื่อรู้แล้วว่าต้นเหตุของน้ำเสียเกิดจากคน จึงต้องแก้ที่คน เมื่อเราทำกันเอง เราก็ต้องมาแก้ที่พวกเรา เราจะไม่โทษกัน แต่เราจะต้องหันมาพูดคุยกัน"
" น้ำเสียที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วเกิดจากพวกเราทำกันเอง ก็ต้องมาแก้ที่พวกเรา นี่คือสิ่งที่เราพยายามบอกที่ครั้งที่ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งชาวบ้านเองก็ยอมรับว่าใช่ และยินดีให้ความร่วมมือ พร้อมสนับสนุนการหาวิธีหรือแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนในชุมชนเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก และยังเรียกร้องให้มีการทำโครงการลักษณะนี้ต่อเนื่อง เพื่อต้องการส่งต่อความรู้และกระบวนการการทำงานวิจัยที่ได้ค้นพบให้กับคนรุ่นใหม่สืบสานต่อไป เพราะเกรงว่าหากไม่มีการทำต่อเนื่อง สิ่งที่ค้นพบและทำมาก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์"
สำหรับการดำเนินงาน เริ่มจากการพิสูจน์คุณภาพน้ำ โดยมีการใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงคลองสาขา ผลปรากฏพบว่าน้ำที่ไหลมายังคลองดำเนินสะดวกเป็นน้ำเสียจริง โดยเฉพาะน้ำจากอำเภอเมือง บ้านโป่ง บางแพ เป็นน้ำเสียหมด มีการจัดทีมนักวิจัยชุมชน ประชุม เตรียมประเด็นลงพื้นที่ สร้างความเข้าใจกับชุมชน และการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดเก็บข้อมูล ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ นำมาจัดทำแผนที่มือของแต่ละตำบล รวมทั้งการค้นหาจุดน้ำเสียที่ปล่อยลงลำคลองที่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และค้นหาฟาร์มต้นแบบที่รักษาสิ่งแวดล้อม
สำนึกสาธารณะ และการมีส่วนร่วม ช่วยจัดการน้ำเสีย
ผลที่เกิดขึ้นหลังการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ชุมชนหันมาตระหนักและใส่ใจมากขึ้น เกิดสำนึกสาธารณะ จากเดิมที่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการฯ มีการจัดการของเสียที่เป็นระบบมากขึ้น เช่น หันมาจัดเก็บมูลวัว ตากแห้งขายมากขึ้น มีการทำบ่อพัก มีการบำบัดน้ำล้างคอกก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงคลอง และมีการใช้ประโยชน์จากของเสียที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การนำน้ำกลับมาใช้ในการรดแปลงหญ้าภายในฟาร์ม นอกจากนี้ยังได้ฟาร์มต้นแบบในการจัดการของเสียและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย ฟาร์มโคนมครูสัจจา ธรรมลังกา บ้านหุบมะกล่ำ อ.โพธาราม , พรชัยฟาร์ม บ้านดอนโพธิ์ อ.โพธาราม , ฟาร์มโคนมช้อยเครือ บ้านห้วยลึก อ.บ้านโป่ง และฟาร์มวัชรี เขียววิจิตร อ.บางแพ เป็นการเลี้ยงกุ้งระบบปิดที่ได้มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้ง
ทั้งนี้ ปัญหาน้ำเสียเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์น้ำชาติด้านการจัดการคุณภาพน้ำ จากงานวิจัยที่พบว่าระดับคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง แม่น้ำแม่กลอง เริ่มลดลง และมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง นอกจากน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดจากชุมชนแล้วยังเกิดจากฟาร์มปศุสัตว์ และจะขยายในวงกว้างมากขึ้นหากไม่มีมาตรการป้องกัน การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จึงไม่ใช่เป็นเพียงภาระหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวเท่านั้น เพราะต้นเหตุของน้ำเสีย เกิดจากคน จึงต้องแก้ที่คน ต้องไม่โทษกัน หันมาพูดคุย เริ่มจากชุมชนเล็กๆ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนตั้งแต่ครัวเรือนจนถึงโครงสร้าง รวมถึงการให้ความรู้ ดังเช่นที่สงครามนิธิกล่าวไว้และนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับการจัดการของเสียจากฟาร์มโคนมแม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของคนจิตอาสาที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรแม่น้ำลำคลองที่ต้องรักษาไว้ให้คงอยู่สืบไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit