นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ชี้แจงว่า สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานีวิจัยในส่วนภูมิภาคของ วว. สังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ จัดสร้างอาคารเทคโนโลยีการเกษตรเสมือนจริง และการก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ขึ้นในพื้นที่สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมมายุ 60 พรรษาในปี 2558 ทั้งนี้ วว.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามอาคารดังกล่าว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1" และ "อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 2" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ ด้านการเกษตรศาสตร์ กีฏวิทยา การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความสัมพันธ์ของแมลงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสากล เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การวิจัยต่อยอดบนองค์ความรู้ของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
"...วว.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2561 สถานีวิจัยลำตะคอง ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป..." รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 แสดงนิทรรศการ "มหัศจรรย์พรรณไม้ ครั้งที่ 1" โชว์พรรณไม้หายากของทั้งไทยและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 6 โซน โซนที่ 1 โซนไม้หายาก เช่น มะลิเฉลิมนรินทร์ มะลิปันหยี ปาล์มเจ้าเมืองถลาง มังกรห้าเล็บ เอื้องดิน ปลวกน้ำ กล้วยคุนหมิง พลับพลึงธาร เปราะศรีสะเกษ สารพัดพิษ โซนที่ 2 ไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ เช่น รองเท้านารีชนิดต่าง ๆ เถางูเขียว หวายแดง กุหลาบกระบี่ ม้าวิ่ง เอื้องมือชะนี ว่านเพชรหึง เอื้องโมก รวมทั้งสับปะรดสีชนิดและพันธุ์ต่างๆ โซนที่ 3 ไม้เขตอบอุ่น ไม้อัลไพน์ และไม้จากยอดดอย เช่น บีโกเนียชนิดต่าง ๆ ชมพูภูคา ก่วมภูคา เทียนพระบารมี ตาเหิรชนิดต่าง ๆ กุหลาบพันปี แมกโนเลีย โซนที่ 4 ไม้น้ำ เช่น ไม้กินแมลงในสกุล Nepenthes สกุล Drosera กกอียิปต์ โลเบเลียแดง กระจับแก้ว ไม้น้ำต่าง ๆ จัดแสดงในตู้ปลากว่า 30 ชนิด มะหิ่งซำ ซึ่งจัดเป็นสนหายากมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก โซนที่ 5 ไม้ทะเลทรายและไม้อวบน้ำ เช่น ปีศาจทะเลทราย ไข่มุกทะเลทรายหรือแฟรงกินเซนส์ ถังทอง ว่านหางจระเข้หลากชนิด ม้าลาย ม้าเวียน หูกระต่าย บาวบับ โซนที่ 6 พืชวิวัฒนาการต่ำ เช่น ปรงสระบุรี ปรงสามร้อยยอด เฟินกีบแรดไทย เฟินกีบแรดฟิลิปปินส์ เฟินปีกแมลงทับ ตีนตุ๊กแกหลากชนิด เขากวางตั้ง สนฉัตรออสเตรเลีย
ส่วนพรรณไม้ในเรือนกระจกหลังที่ 2 แบ่งเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 จัดแสดงหมวดหมู่พรรณไม้ตามวิวัฒนาการ เริ่มจากกลุ่มพืชที่มีวิวัฒนาการต่ำและไม่มีดอก เช่น มอส เฟิน ปรง และสนต่าง ๆ ส่วนของพืชดอกปลูกจัดแสดงตามสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการที่ใช้การศึกษาทางชีวโมเลกุลเข้ามาวิเคราะห์ กลุ่มแรกสุดเป็นกลุ่มใบเลี้ยงคู่ที่มีวิวัฒนาการต่ำ เช่น อันดับของพริกไทย กลุ่มใบเลี้ยงเดี่ยว และกลุ่มใบเลี้ยงคู่สมัยใหม่ที่มีวิวัฒนาการสูง เช่น กลุ่มสายสัมพันธ์ของพวกกุหลาบและกลุ่มสายสัมพันธ์ของพวกแอสเตอร์ โซนที่ 2 จัดแสดงการใช้ประโยชน์จากพืชของมนุษย์ แยกเป็นกลุ่มย่อยต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่มพืชเกียรติประวัติ เช่น โมกราชินี จำปี สิรินธร สาละลังกา กลุ่มพืชเครื่องเทศและสมุนไพร เช่น กานพลู กระวาน จันทน์เทศ พริกไทย กลุ่มพืชเครื่องดื่ม เช่น เสาวรส หญ้าหวาน พุงทะลาย เตยหอม ชา กาแฟ โกโก้ กลุ่มแสดงตามช่วงเวลาต่าง ๆ ในระยะแรกจัดแสดงพวกกุหลาบสายพันธุ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เหล่าแมลงผสมเกสร (Pollination pals) โชว์แมลงผสมเกสรบินอิสระ และสังเกตพฤติกรรมการหาอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศและทางการเกษตร พืชกินแมลง (Carnivorous plants) ชมความอัศจรรย์ของเหล่าพืชที่ต้องการดำรงชีวิตอยู่แม้ในพื้นที่ขาดแคลนธาตุอาหาร แมลงจึงกลายเป็นเหยื่อของพืชเหล่านี้ ดักแด้ยักษ์ เป็นจุดปล่อยผีเสื้อเขตร้อนนานาชนิดที่ถูกคุ้มครองอย่างปลอดภัยภายใต้ดักแด้ขนาดใหญ่ จ้าวแห่งการพรางตัว (Master of disguise) ชมความมหัศจรรย์ของเหล่าแมลงที่พรางตัวอย่างแยบยล กลยุทธ์ในการเอาตัวรอดทางธรรมชาติที่น่าทึ่ง ด้วง สัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย (Thailand's wildlife protection beetles) ชมด้วงหายากของประเทศไทยที่นำมาศึกษา กระบวนการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์เชิงรุก พิพิธภัณฑ์และห้องภาพ (Museum & Gallery) ชมภาพถ่ายแมลงนานาชนิดและงานศิลป์ที่เชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของผู้คนและแมลง ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland ecosystem) จำลองพื้นที่ชุ่มชื้นที่เป็นแหล่งกำเนิดและแหล่งอาหารของสัตว์มากมายหลายชนิด เครือญาติ (Lineage) ชมสัตว์ขาปล้องที่มีสีสัน/รูปร่างที่น่าทึ่ง และมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ แมลงสังคม (Social Bugs) เรียนรู้วิถีชีวิตที่น่าทึ่งของแมลงสังคมที่แบ่งงานกันอย่างขยันขันแข็ง จุดสังเกตการณ์เรือนยอดไม้ (Canopy Observation) ชมผีเสื้อและเหล่าแมลงที่บินอย่างอิสระเหนือเรือนยอดไม้ ห้องปฏิบัติการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างพืชและแมลง (Plant and insect interaction laboratory) ห้องปฏิบัติการเพื่อการแมลงมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและทางการเกษตร สาธิตการเพาะเลี้ยงแมลงหายาก (Nursery) ชมเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงแมลงหายากหลากชนิดพร้อมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และประสานการเข้าเยี่ยมชมได้ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา 333 หมู่ 12 ถ. มิตรภาพ ต. หนองสาหร่าย อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 30130 โทร. 044-390107 ,044-390150 http://www.tistr.or.th/lamtakhong e-mail : [email protected]
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit