นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ในโครงการส่งเสริมศิลปะไทย และเป็นนักสะสมเจ้าของผลงานศิลปะในคอลเลคชั่น ที่จัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ เผยถึงที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ว่า ผลงานสะสมที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานสะสมของผม และบุตรสาว (คุณเหมือนฝัน สิริกรณ์ คุณาวงศ์ และคุณวาดฝัน คุณาวงศ์) ซึ่งโดยส่วนตัวชื่นชอบผลงานศิลปะไทยประเพณีมาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี โดยเริ่มค้นหางานสะสมมาตั้งแต่ก่อนที่จะก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2547 โดยผมเริ่มสนใจ งานที่เป็น Visual Art อื่นๆ เช่น งานจิตรกรรม แล้วก็เชื่อมโยงมาถึงงานฝีมือแบบไทยประเพณีทุกประเภท ซึ่งงานฝีมือแบบไทยประเพณีของเรา สะท้อนออกมาในรูปแบบงานโบราณวัตถุ หรือ ชื้นงานที่มีอายุเก่าแก่อีกด้วย ตลอดการค้นหางานสะสมของผมเป็นการค้นหาที่เต็มไปด้วย Passion และสนุกมากที่ได้เสพสุนทรียภาพที่แตกต่างกัน ทั้งงานประติมากรรมสมัยใหม่ ,งานจิตรกรรมแบบร่วมสมัย ตลอดจนงานที่เป็นงานช่างสิบหมู่ ต่างๆ ได้แก่ โต๊ะ, ตู้ ,ตั๋ง ,เตียง และ ศรีษะโขน รวมไปถึงเครื่องเคลือบสมัยสุโขทัย ,ถ้วยโถโอชาม งานเบญจรงค์สมัยอยุธยา และหีบพระธรรมคัมภีร์ ที่มีลายแบบฝรั่ง ซึ่งคาดว่าเป็นผลงานในราวสมัยรัชกาลที่ 4
"นิทรรศการ รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ รวมคอลเลคชั่นงานไทยประเพณีตั้งแต่โบราณวัตถุจนถึงศิลปะร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน นำมาจัดแสดงทั้งหมด37 ผลงาน โดยมีความหลากหลายครอบคลุมทั้งงานจิตรกรรม ,งานประติมากรรม, หัวโขน, หุ่นหลวง เป็นต้น ซึ่งผู้ชมจะได้รับรู้ถึงเส้นทางของงานศิลปะไทยที่สืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ล้านนาและยุคทองของอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเชื่อมโยงแหล่งอารยธรรมสำคัญหลายแหล่งในโลก ทั้งจากชมพูทวีปและจากฝั่งตะวันตก ซึ่งจะเห็นว่าเส้นทางของงานศิลปะไทยประเพณี ได้สร้างเอกลักษณ์ของงานในแต่ละยุคสมัย และเริ่มมีการเปิดรับเอาความงดงามของอารยธรรมอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงาน มีการนำเสนอเรื่องราวของความเป็นไทย โดยเใช้เทคนิคการสร้างงานศิลปะแบบตะวันตก ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ ผลงานที่นำมาจัดแสดงให้ชม เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของความต่อเนื่องในความงดงามของงานไทยประเพณี เชื่อว่ายังมีผลงานที่งดงามกว่าผลงานที่จัดแสดงนี้อีกมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานจากอดีต แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ และยังไม่สมบูรณ์ของคอลเลคชั่น จึงทำให้สามารถนำเสนอเป็นมุมมองที่อาจสร้างแรงบันดาลใจได้เพียงเท่านี้ และหวังว่านิทรรศการครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายให้คนที่รักในศิลปะอันทรงคุณค่าประเภทไทยประเพณีได้ร่วมกันสืบทอดต่อไป
สำหรับตัวอย่างผลงานที่มาจัดแสดง ได้แก่ "หีบพระธรรมคัมภีร์" ไม่ปรากฎชื่อศิลปิน เป็นหีบพระธรรมคัมภีร์ ใช้สำหรับงานสวดพระอภิธรรมในงานฌาปนกิจศพเพื่อนำไปสู่สุคติสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หีบนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นภาพเขียนชาวตะวันตกซึ่งเชื่อว่าเขียนโดยช่างไทยในสมัย ร.4 โดยดูคล้ายสกุลช่างขรัวอินโข่ง ซึ่งมีการเขียนรูปชาวตะวันตกในจิตรกรรมฝาผนัง
ผลงาน "ภาพประกอบนิทานพื้นบ้าน ปี 2488" เขียนโดย เหม เวชกร ช่างเขียนที่ได้มีโอกาสฝึกงานกับคาร์โล ริกโกลี ซึ่งเป็นจิตรกรชาวอิตาเลียนที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังบริเวณเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 จึงมีความเชี่ยวชาญเทคนิคตะวันตก เหม เวชกร เป็นจิตรกรคนสำคัญคนหนึ่งของไทยซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินไทยกลุ่มแรกที่นำเอาเทคนิคตะวันตกมาเล่าเรื่องไทย ท่านสร้างงานต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ 7 จวบจนถึง รัชกาลที่ 9 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานภาพประกอบ แต่ยังทรงคุณค่าทางด้านศิลปะอย่างเห็นได้ชัด และงานของท่านยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังได้ต่อยอดเติบโตอีกหลายท่าน
"หุ่นละครเล็กย่อส่วน ตอน ทศกัณฑ์ลงสวนเกี้ยวนางสีดา" หุ่นละครเล็กย่อส่วน ผลงานของ อาจารย์ภัทรชัย แสงดอกไม้ โดยเป็นตัวทศกัณฐ์ตอนลงสวนเกี้ยวนางสีดา ได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการสร้างหุ่นหลวงและหุ่นเล็กของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
"พฤกษาสวรรค์ ปี 2527" งานวาดเส้นดินสอดำสะท้อนศิลปะไทยที่ต่อยอดออกจากงานไทยประเพณีของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในปีเดียวกับที่ศิลปินเดินทางไปสร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสำคัญที่วัดพุทธประทีป เมืองวิมเบิลดัน พาร์คไซด์ ประเทศอังกฤษ
"พระพุทธเหนือทุกข์และสุข" ประติมากรรม พระพุทธเหนือทุกข์และสุข ชิ้นนี้ได้แสดงเชิง ช่างแบบ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ชัดเจนที่สุดชิ้นหนึ่ง ลวดลายที่เศียรนาคปรก นับเป็นประติมากรรมสำคัญชิ้นหนึ่งของอาจารย์
"รามเกียรติ์ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ตอนทศกัณฑ์เกี้ยวนางสีดา ปี 2558" ผลงานของ อ.หทัย บุนนาค ศิลปินที่ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ งานชุดนี้ เป็นงานที่มีแรงบันดาลใจในวรรณคดีไทยที่สืบทอดกันมาแต่อดีตสะท้อนความหลากหลายนความรักของตัวละครทั้งผู้ชายหน้าเกลียดกับเจ้าหญิง ความรักเกิดจากการลักพาตัว ขุนพลทัพวานรกับเจ้าหญิงสกุลยักษ์แปลงกายมา ยักษ์ผู้หญิงกับเจ้าชายนักดนตรี เป็นต้น โดยใช้เทคนิคสีน้ำปิดทองบนกระดาษ ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคนิคแบบไทยประเพณีกับวิธีการเขียนสีน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศแบบเทคนิคตะวันตก
นายเสริมคุณ ยังกล่าวอีกว่า ผลงานสะสมที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ล้วนเป็นผลงานที่แสดงถึงความประณีต ความอ่อนหวานของเส้นสายงานประเพณีไทย บางผลงานก็เป็นส่วนที่เราร่วมฟื้นฟู ร่วมสร้างมา เช่น การฟื้นฟูและอนุรักษ์หุ่นหลวง ในปี 2543 งานหุ่นหลวงในครั้งนั้น เมื่อสร้างเสร็จก็จัดแสดงที่บ้านสวนสงบ ซอยลาดพร้าว ซึ่งผ่านมาเกือบ 20 ปี วันนี้ผมได้นำมาแสดงในนิทรรศการห้องเล็กๆ นี้ ด้วย ศิลปินบางท่าน หรือ จะเรียกว่าหลายท่านก็ได้ ที่ทำงานด้านไทยประเพณี เป็นดั่งช่างผู้ปิดทองหลังพระ และบางคนก็ปิดทองที่หลังพระจริงๆ สะด้วย เพราะเป็นขั้นตอนการสร้างผลงานอย่างหนึ่งด้วย
ท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนให้นักสะสม ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะไทย รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาชมนิทรรศการนี้ ที่เต็มไปด้วยความตั้งใจของศิลปิน ซึ่งบางท่านคุณอาจไม่รู้จักเลย แต่คุณจะได้ประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของศิลปะไทย ความยิ่งใหญ่ในความละเอียดอ่อน เส้นสายพริ้วไหว งานปักที่เป็นเลิศ การแมตช์คู่สีที่ งดงาม ไม่ได้มีแค่สีทองและสีแดง แต่มีสีม่วง สีเขียว มีทุกสี อุดมไปด้วยความเจิดจรัสของสีสัน ในภาพเขียนแบบไทย
ทั้งนี้ คอลเลคชั่นที่นำมาจัดแสดง เรียงลำดับเรื่องราว มาจากเครื่องเคลือบสมัยสุโขทัย ,เบญจรงค์อยุธยา ตั๋งอายุราวสมัยรัชกาลที่ 4 ,หีบพระธรรมคัมภีร์ เขียนเป็นรูปชาวต่างชาติในยุคต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงงานของ เหม เวชกร ศิลปิน ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินต่อๆ มาอีกมากมาย ซึ่ง อ.จักรพันธ์ โปษยกฤต ก็เคยพูดถึงว่า เหม เวชกร ก็เป็นหนึ่งในงานที่อาจารย์ดูมาตั้งแต่เด็กๆ และผมก็เชื่อว่าศิลปินในยุค อ.ศิลป์ พีระศรี และศิษย์ของ อ.ศิลป์ ทุกคน ต้องได้รับอิทธิพลจาก เหม เวชกร เพราะท่านเป็นศิลปินกลุ่มแรกๆ ที่นำเอาเรื่องไทยมาเขียนแบบเทคนิคฝรั่ง แต่ถึงเวลาจะเปลี่ยนไป สังคมจะยอมรับศิลปะแบบตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ งานไทยประเพณี และเส้นสายแบบไทย ถูกจำกัดอยู่ในโบสถ์ ในวัด ในขณะที่ศิลปะและสไตล์แบบตะวันตก ได้ครอบคลุมไปทั่วสังคมไทยในทุกมิติ ผมเชื่อว่า งานไทยประเพณี หลากหลายประเภท ก็ยังเป็นที่โหยหาของผู้คน
นิทรรศการ "รากศิลปะไทยจากศตวรรษสู่ศตวรรษ" ตั้งใจจะเป็นกำลังเล็กๆ ในการนำเสนอ ความยิ่งใหญ่ของศิลปะไทยประเพณี ให้คนไทยได้ตระหนักและให้นักท่องเที่ยว ที่ได้ผ่านไป ชมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้เห็นตัวอย่าง แบบไทยประเพณีแท้ๆ ว่ามีความงดงาม และเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้ศิลปะของชาติใดในโลก จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 4 พฤศจิกายน 2561 ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-088-3888 ต่อ 1303 และ 1314
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit