ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า สวทน. พร้อมปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของกระทรวงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ โดยระหว่างที่ยังรอการเกิดขึ้นของกระทรวงใหม่นั้น ในปีงบประมาณ 2562 สวทน. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 1,095 ล้านบาท เพื่อใช้ในแผนการดำเนินงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยหลายโครงการสำคัญ อาทิ โครงการบริหารจัดการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) โครงการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน โครงการพัฒนากลไกสนับสนุนความสามารถด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (WiL) โครงการพัฒนาความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่บุคลากรในสาขายุทธศาสตร์ของประเทศ โครงการพัฒนากลไกสนับสนุนความสามารถ SME ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม RDI : การพัฒนากระบวนการวิจัยและระบบการบริหารความรู้และเทคโนโลยี และระบบนิเวศน์นวัตกรรมในอุตสาหกรรม และโครงการวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead Program)
"โครงการที่น่าจับตามองในปี 2562 คงหนีไม่พ้น Spearhead Program ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อริเริ่มสำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ในด้านเศรษฐกิจ โดยที่ Spearhead Program ซึ่ง สวทน. เป็นผู้ดูแลในภาพรวม จะมีส่วนสนับสนุนให้เป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมฯ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการร้อยละ 5 ต่อปี การลงทุนวิจัยของภาคเอกชน ร้อยละ 1.6 และเกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี บรรลุผลตามที่กำหนดไว้" ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับแผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในปีงบประมาณ 2562 ประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอาหาร เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีการแพทย์ 2. กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลและข้อมูล 3. กลุ่มระบบโลจิสติกส์ 4. กลุ่มการบริการมูลค่าสูง และ 5. กลุ่มพลังงาน ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการดำเนินแผนงาน (3 - 5 ปี) จะมีผลผลิตที่หลากหลายตามกลุ่มแผนงานเกิดขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการเกษตร สารอาหารฟังก์ชั่น สูตรยาและวัคซีน หุ่นยนต์เคลื่อนที่ และระบบควบคุมหุ่นยนต์ ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าและระบบควบคุมการขับเคลื่อน สถานีประจุไฟฟ้าแบบเร็ว ฐานข้อมูลการท่องเที่ยวด้านสปาและการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เครือข่ายการท่องเที่ยวสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ต้นแบบของกลุ่มพลังงาน เป็นต้น โดยคาดว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 10,000 ล้านบาท เกิดมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3,500 ล้านบาท ลดการนำเข้าประมาณ 15,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดจนสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างน้อย 50,000 ครัวเรือน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 ราย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit