พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น ประเทศไทยกำลังเร่งกระบวนการต่าง ๆ ตามแนวทาง 3R ทั้งการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ เช่น เลิกการใช้พลาสติกหุ้มขวดน้ำดื่ม การนำขยะไปเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้า การใช้ไบโอพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก การรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติก หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นต้น นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังเริ่มใช้กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์และกลไกทางการคลัง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตให้ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การกำหนดให้เขตอุทยานทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก การกำหนดพื้นที่ชายหาด 24 แห่ง ใน 15 จังหวัด ให้ปลอดจากก้นกรองบุหรี่ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องผลกระทบของขยะทะเลนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีความมุ่งหวังที่จะให้เกิดกระแสการรักษ์โลกโดยการลด ละ เลิกผลิตขยะที่ไม่จำเป็น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยใช้เหตุการณ์วาฬนำร่องครีบสั้นเกยตื้นตาย ที่ จ.สงขลา ซึ่งมีสาเหตุเนื่องจากกินขยะพลาสติกจำนวนมากเข้าไป เป็นบทเรียนให้เห็นถึงโทษทัณฑ์ของขยะ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญ จึงกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะทะเลโดยดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้อง แบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้นกรมทช. ได้จัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region ไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ จังหวัดภูเก็ต การประชุมในครั้งนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมมากกว่า 300 คน จากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งผลการประชุมที่ได้นำไปสู่การสร้างความร่วมมือตลอดจนแนวทางการดำเนินการร่วมกันในการจัดการปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 พร้อมทั้งได้ดำเนินการจัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม ผ่านเครือข่ายภาคประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสานึกการลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปีในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลของประเทศ ล่าสุดได้ดำเนินงานตามโครงการบูรณาการจัดการขยะโดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนระหว่างเดือนตุลาคม 60 ถึง กันยายน 61 รวมทั้งสิ้น 74 พื้นที่ ได้ขยะจำนวนรวม 569,657 ชิ้น น้ำหนักรวม 32,834.68 กก. และเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 กรม ทช.จัดกิจกรรมวันทะเลโลก ณ โรงภาพยนตร์ สยามภาวลัย รอยัลแกรนด์เธียเตอร์ สยามพารากอน กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญคือการให้ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และภาคราชการร่วมแสดงเจตนารมณ์และมีส่วนร่วมในการลดการนำเข้า การผลิต และการใช้พลาสติก ตามแนวทางประชารัฐลดการใช้ถุงพลาสติกเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการดำเนินงานระยะกลาง ประกอบด้วยการประกาศใช้มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีหน้าที่หลักในการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการประกาศมาตราดังกล่าวไปแล้วในบริเวณพื้นที่เกาะไข่นอก เกาะไข่ใน เกาะไข่นุ้ย จ.พังงา และจ.ภูเก็ต รวมถึงโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ ทั้ง 24 ชายหาด 15 จังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 และคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่องมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยประกาศให้บริเวณพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2561 ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 กรมทช. ร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะสีชัง จัดประชุมประชาคม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่ อำเภอเกาะสีชังและอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ก่อนจะประกาศใช้มาตรา 17 แห่งพรบ. ทช. พร้อมกันนี้ยังมีโครงการบริหารจัดการขยะทะเลโดยทุ่นกักขยะหรือ Boom เพื่อเป็นการช่วยลดการพัดพาของมวลขยะบริเวณปากแม่น้ำก่อนออกสู่ทะเล ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วในพื้นที่นำร่องบริเวณปากแม่น้ำสายหลักในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน และหากการดำเนินการดังกล่าวเกิดผลสัมฤทธิ์ จะมีการขยายผลในแม่น้ำสายอื่นต่อไป
สุดท้ายคือระยะยาวได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือ โครงการภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อจัดการปัญหาขยะและการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการพัฒนาความรู้และปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน ร่วมกันจัดการปัญหาขยะและทรัพยากรพลาสติกที่ใช้แล้วตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จัดการฐานข้อมูลพลาสติกในประเทศเพื่อการจัดการและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนระบบการจัดการขยะและคัดแยกขยะที่ดี ร่วมกันจัดทำแผนธุรกิจเพื่อการจัดการขยะและพลาสติกเหลือใช้อย่างครบวงจร ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิต โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570
ทั้งนี้การดำเนินการทุกด้านจะไม่สำเร็จได้หากปราศจากความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนจึงขอให้ทุกท่านเริ่มต้นทำที่ตัวเอง และมีหัวใจที่เราจะร่วมกันการอนุรักษ์ดูแลท้องทะเลไทย และร่วมกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคน แม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ติดทะเล หันมาใส่ใจและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และร่วมกันปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปได้รู้จักคุณค่าและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะทำให้ทะเลของบ้านเรามีความสวยงาม และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีตลอดไป
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit