การมีพื้นที่ทำกิน และ ที่อยู่อาศัยคนละเขตการปกครอง ทำให้ชาวบ้านท่างอยประสบปัญหาในด้านความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง แม้ต้องการจะช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่เข้ามาร้องขอ แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ ด้วยติดเงื่อนไขทางด้านกฏหมาย ความเดือดร้อนของชาวบ้านท่างอยคือเรื่องการกระจายน้ำไปให้ครอบคลุม และทั่วถึงที่ทำกินทุกแปลงของชาวบ้าน กระบวนการวิจัยทำให้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มาหารือ และหาทางออกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
โดยปกติเกษตรกรมักมีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน หรืออยู่ในเขตปกครองเดียวกัน แต่เกษตรกรบ้านท่างอย ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ กลับมีพื้นที่เป็นอยู่อาศัย และทีทำกิน คนละเขตการปกครอง โดยที่อยู่ อาศัย อยู่ในเขตการปกครองของตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงฝั่งขวาของแม่น้ำมูล มีพื้นที่ประมาณ 1,600 ไร่ เป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนของเกษตรกร วัด โรงเรียน และป่าสาธารณะกว่า 674 ไร่
ส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,800 ไร่ เป็นพื้นที่ราบลุ่มเหนือแม่น้ำชี ฝั่งขวาคือแม่น้ำมูล แต่อยู่ในเขตรับผิดชอบตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งกระทะ และเมื่อถึงฤดูการน้ำหลากจะมีมวลน้ำจำนวนมากจากลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลไหลมาบรรจบกันทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเสียหายเกือบทุกปี "การมีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตั้งอยู่คนละเขตการปกครอง ทำให้เวลาเกษตรกรบ้านท่างอยไปขอความช่วยเหลือจาก อบต. หนองบ่อ เกษตรกรจะไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด เนื่องจากเกษตรกรที่เข้ามาทำกินในพื้นที่ไม่ใช่ประชากรของตำบลหนองบ่อ อบต. จึงไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้" พ่อทวี สีทากุล แกนนำชาวบ้านท่างอย อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ซึ่งในส่วนของพื้นที่ทำกิน พ่อทวีอธิบายว่า ก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกมีพื้นที่ 800 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีระบบชลประทาน เกษตรกรทำนาเป็นหลักและสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ย 800 กก/ไร่
ซึ่งโซนนี้ เกษตรกรจะรวมกันเป็นกลุ่มชื่อว่า "กลุ่มผู้ทำนาปรังบ้านท่างอย" โดยมีนายทวี สีทากุล เป็นประธาน บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ มีกฎระเบียบที่ชัดเจน และมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามการเขตพื้นที่และการใช้น้ำอีก 11 กลุ่ม
สำหรับโซนที่ 2 มีพื้นที่ 1,000 ไร่ แต่ยังไม่มีระบบชลประทาน และชุมชนต้องการพัฒนาโครงข่ายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันลงชื่อ 86 ราย ทำเรื่องไปยังชลประทานจังหวัดเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการขุดคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ทำกิน โดยรอบแรกชลประทานมาดำเนินการขุดคลองส่งนำให้เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร และต่อมาจึงมีการขุดเพิ่มอีก 2 กิโลเมตร รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่คลองชลประทาน ก็เปรียบเสมือนถนนสายหลักที่ยังไม่มีซอยเข้าบ้าน ชาวบ้านต้องนำน้ำเข้าแปลงนาของตัวเอง ด้วยการขุดคลองเล็ก ๆ และรวมรวบเงินเพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำชีเข้าสู่แปลงนาของตัวเอง พร้อมกับวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้ทุกครัวเรือนได้มีน้ำใช้กันอย่างทั่วถึง
"พอมีคลอง ชาวบ้านก็ต้องรับผิดชอบเรื่องการสูบน้ำ ต้องหาเครื่องสูบน้ำ และต้องจ่ายค่าไฟเอง ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่มันมีติดปัญหาตรงที่งบประมาณในการทำนุบำรงดูแลรักษาคลอง เพราะเมื่อส่งมอบให้กับ อบต. ก็ไม่สามารถรับมาดูแลได้ เพราะราษฎรไม่ได้มีชื่ออยู่ในเขตรับผิดชอบ"
ปัญหานี้คลี่คลายลงเมื่อ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จับมือกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการ ความร่วมมือด้านการจัดการน้ำ โดยมีการสนับสนุนงานวิจัยเรื่องการบริหารจัดการโครงข่ายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านท่างอย ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อศึกษาลักษณะพื้นที่ แหล่งน้ำ และศักยภาพของแหล่งน้ำในการทำการเกษตรของชุมชน เพื่อนำไปสู่การจัดการน้ำเพื่อบรรเทาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรบ้านท่างอย
กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมพา ทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ชาวบ้าน นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไปทบทวนและทำความเข้าใจวิถีการทำนาของชาวบ้าน โดยเฉพาะกับทางฝั่งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ทราบข้อมูลและความต้องการของชาวบ้านเรื่อง "การดูแลซ่อมบำรุงคลอง" และพัฒนาโครงข่ายระบบท่อเพื่อให้ครอบคลุมในทุก ๆ พื้นที่ ในส่วนของชาวบ้านก็เข้าใจระบบการทำงานของทาง อบจ.มากขึ้น ซึ่ง ความเข้าใจนี้นำไปสู่การร่วมกันวิเคราะห์สภาพพื้นที่การทำเกษตรของชาวบ้านพบว่า บนที่ 800 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ มีระบบน้ำคือคลองหลัก แต่ลักษณะคลองยังเป็นคลองดิน ที่จะมีปัญหาเรื่องการส่งน้ำ คือน้ำจะซึมลงดิน และระเหยไปในอากาศ และบางช่วงมีหญ้าขึ้นรก
สำหรับพื้นที่ 1000 ไร่ ที่ยังไม่มีระบบชลประทาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน และอยู่สูงกว่า 800 ไร่ การนำน้ำขึ้นที่สูงจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากนั้นก็มีการช่วยกันดำเนินงานจนสามารถมี่น้ำใช้ในทุก ๆ พื้นที่เช่นกัน
ซึ่งทั้งหมดเกิดจากแนวางการแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้
1.มีการตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 1 สถานี พร้อมขนาดท่อส่งน้ำ 12 นิ้ว
2.ปรับปรุงคลองชลประทานคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเปิดตัววี ความกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 2,500 เมตร
3.จัดทำคลองส่งน้ำไส้ไก่แบบท่อคอนกรีต เส้น Ø 60 เซนติเมตร ยาว 500 เมตร เพื่อจะได้ส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร
นอกจากโครงข่ายระบบท่อที่ฟากของ อบจ.เข้ามาดำเนินการให้ ในส่วนของชุมชนก็มีการ ระดมสรรพกำลังกันมาขุดคลอง เพื่อให้มีความลาดชัน เพื่อให้น้ำเข้าไปในพื้นที่ 1000 ไร่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ด้านการบริหารจัดการ มีการจัดตั้ง "กลุ่มผู้ใช้น้ำ" โดยกำหนดให้กลุ่มที่อยู่ "ซอยเดียวกัน" ตั้งกลุ่ม พร้อมกับสร้างกติกา หรือสร้างข้อตกลงภายในกลุ่มกันเอง อาทิ ในแต่วันจะที่จะมีการเดินเครื่องปั๊มน้ำเข้านา วันละ 8 ชั่วโมง กลุ่มต้องตกลงกันเองว่าจะส่งน้ำให้ใครก่อน หรือหลังระบบดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้นาทุกแปลงรับได้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง.
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit