จากปัญหา "ขยะทะเล" ที่เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำ ดังเห็นได้จากข่าวการตายของสัตว์ทะเลที่กลืนกินถุงพลาสติกบ้าง หลอดน้ำบ้าง ฯลฯ เพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ขยะพลาสติก ที่มีน้ำหนักเบา ย่อยสลายได้ยาก ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าร้อยละ 80 ของขยะพลาสติกในทะเล เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนฝั่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาขยะทะเล จึงต้องเริ่มต้นจากมนุษย์ที่ต้องช่วยกันลดปริมาณการเกิดขยะทะเล
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชาวประมง ผู้ประกอบการธุรกิจประมง สถาบันการศึกษา จัดทำ "โครงการกำจัดขยะทะเล" ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาปริมาณขยะทะเลที่มีอย่างมหาศาลอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ไม่สร้างขยะทะเลเพิ่มขึ้น และการเก็บขยะในทะเลขึ้นมาบนฝั่ง โดยทุกภาคส่วนได้มีการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ มากมาย
สำหรับกิจกรรม "เย็บอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อเป็นถุงใส่ขยะในทะเลสำหรับเรือประมง" ที่จัดขึ้นในวันนี้ ต่อยอดมาจากการที่มีชาวประมงบางกลุ่มได้ใช้อวนประมงที่ไม่ใช้แล้วเก็บขยะในทะเลขึ้นมาบนฝั่ง เพื่อที่จะให้มีการกำจัดได้อย่างถูกวิธี ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชมในความคิดริเริ่มดังกล่าว โดยอวนที่นำมาเย็บในวันนี้ ได้มาจากอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว และเรานำมาดัดแปลงเย็บให้มีลักษณะเป็นถุง เพื่อที่จะให้ชาวประมงนำไปใส่ขยะที่เก็บได้จากท้องทะเล หรือที่ติดมาจากเครื่องมือในการทำประมง ซึ่งกรมประมง เชื่อมั่นว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวประมงได้มากขึ้น ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเย็บถุงขยะจากอวนประมง ให้ได้อย่างน้อย 1,000 ถุง และนำไปส่งต่อให้กับเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ลำ ซึ่งคาดว่าในแต่ละวันจะสามารถกำจัดขยะทะเลได้จำนวนมาก นอกจากนี้ กรมประมงจะได้ประสานงานกับภาคเอกชนในการที่จะนำขยะเหล่านี้ ไปแปรสภาพนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้
กรมประมง เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของทุกภาคส่วนในการที่ช่วยการกำจัดขยะให้หมดไปจากทะเล ในวันข้างหน้าท้องทะเลของเราจะกลับมาสมบูรณ์ดังเดิม....รองอธิบดีกรมประมง กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit