4 ประสาน จัดการน้ำอุบลราชธานี

14 Sep 2018
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชนและสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
4 ประสาน จัดการน้ำอุบลราชธานี

จังหวัดอุบลราชธานี แม้จะมีแหล่งน้ำทั้งที่เป็นห้วย หนอง คลอง บึง บุ่ง ทาม และแม่น้ำอยู่รายรอบพื้นที่การเกษตร แต่ก็ยังประสบปัญหา บางปีน้ำท่วม บางปีประสบภัยแล้ง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และรายได้ทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ระบบการจัดการน้ำเพื่อกระจายไปยังพื้นที่เกษตรกรรม มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 2 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน ดูแลเรื่องการส่งน้ำผ่านพื้นที่เกษตรกรรม เช่น คลองชลประทาน หรือคลองส่งน้ำ อีกหน่วยงานคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่สนับสนุนเครื่องไม้ เครื่องมือ และอุปกรณ์ อาทิ ท่อส่งน้ำ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น แม้จะมีหน่วยงานหลักดูแล และให้ความช่วยเหลือ แต่เกษตรกรในอีกหลายพื้นที่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

หรือเพราะอุบลขาดน้ำ!

คำถามนี้ จะได้ยินอยู่ทุกปีเมื่อถึงช่วงแล้ง และน้ำไม่พอใช้ แต่เมื่อดูจากแหล่งน้ำโดยรอบ โดยเฉพาะแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่นำโขง อีกทั้งยังมีลำเซบก ลำเซบาย ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่อุบลจะขาดน้ำ แต่พอถึงฤดูน้ำหลาก คำถามก็จะค่อยๆ เงียบหายไป เพราะทุกพื้นที่ริมน้ำทั้งโขง ชี มูล ถูกน้ำท่วมแทบทั้งหมด

ซึ่งคำว่า "อุบลขาดน้ำ" ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างจริงจังเมื่อครั้งที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบบราชธานีประสบความสำเร็จจากโครงการการจัดการน้ำโดยชุมชนบ้านผาชัน ตำบลสำโรง และได้รับโครงการวิจัยเด่น จากนั้น นวัตกรรมที่เรียกว่า "แอร์แว" คือระบบสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง ก็ถูกขยายผลไปยังพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน

ประสบการณ์การดำเนินงานที่บ้านผาชัน นำไปสู่การทำงานในลักษณะบูรณาการ มีการประสานความร่วมมือในหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงภาพใหญ่กลับพบว่า ยังมีอีกหลายๆ พื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานีที่ประสบปัญหา "ขาดน้ำ" ทั้งเพื่อการเกษตร และการบริโภค

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออก "นโยบายแก้แล้ง แก้จน แก้เจ็บ" ขึ้นในปี 2549 มีตัวชี้วัด คือ น้ำดี รายได้ดี และสุขภาพดี ผ่านการทำโครงการ "ชลประทานระบบท่อ" โดยทำงานร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งมีการแจกท่อ เครื่องสูบน้ำ แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก เนื่องจากขาดกลไกติดตาม และ ขาดความเข้าใจระหว่างผู้สนับสนุน และผู้ได้รับการสนับสนุน

"การดำเนินการในช่วงแรก อบจ. ขาดมุมมองในเรื่องทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน แต่มีเจตนาดีที่มาพร้อมกับมิติในเรื่องการพัฒนาชุมชน ซึ่งพอดำเนินงานไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดประเด็นความขัดแย้งทั้งภายในกลุ่ม ทั้งระหว่างตัวบุคคล ระหว่างชุมชนกับหน่วยงาน (อบจ.) ซึ่ง อบจ.เองก็มองหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอยู่เหมือนกัน" การขาดการมีส่วนร่วม ทำให้นโยบายแก้แล้ง แก้จน แก้เจ็บ ไม่บรรลุเป้าหมาย ดังที่ มัสยา คำแหง ผู้ประสานงานจากศูนย์ประงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานีวิเคราะห์ ขณะเดียวกันทางศูนย์ประสานงาน หรือ (NODE) ก็มีแนวคิดในการทำงานเพื่อขยายผลความรู้ด้านการจัดการน้ำ นี่จึงเป็นโอกาสที่ทางศูนย์ประสานงานฯ จะเข้ามาหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน

ทางออกของปัญหานี้ คือการทำงานร่วมกันภายใต้โครงการ "การพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)" ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการน้ำในระดับชุมชนโดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการทำงาน

4 ประสานการจัดการน้ำ

การมารวมตัวกันของ 4 องค์กรในพื้นที่ เกิดจากการทำงานอย่างเข็มข้นของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การวิเคราะห์บทบาทของส่วนงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดน้ำของจังหวัด ซึ่งก็พบว่า อบจ.มีงบประมาณ และมีนโยบายในเรื่องนี้ ขณะที่ทางศูนย์ประสานงานซึ่งทำหน้าที่ในนามของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก็มีองค์ความรู้ และประสบการณ์ในด้านการทำงานชุมชน

"นอกจากนั้นยังมีกลุ่มนักวิชาการจาก 2 สถาบันคือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ที่นอกจากจะสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังสนับสนุนงบประมาณบางส่วนสำหรับการวิจัยในชุมชน"

การทำงานเพื่อทดสอบกลไก " 4 ประสาน" คือ โครงการวิจัยย่อยทั้งหมด 8 โครงการ ที่ประกอบด้วย โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันของชุมชนและหน่วยงาน จำนวน 4 โครงการ และโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในด้านการเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ในการบูรณาการการจัดการทรัพยากรน้ำสู่การพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม จำนวน 4 โครงการ ซึ่งโครงการวิจัยย่อยทั้ง 8 โครงการ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Participatory Action Research) โดยหัวหน้าโครงการวิจัยต้องมาจาก 3 ส่วน คือ 1.) จากชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา 2.) จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา และ 3.) จากสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี หรือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นนักวิชาการในพื้นที่

"การแบ่งบทบาทในลักษณะนี้ ทำให้เกิดความเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกว่าเป็นวิชาการ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ เป็นชาวบ้าน ทุกคนมีสถานะเท่ากันคือเป็นนักวิจัย"

ทำงานร่วมกันบนฐานข้อมูล

เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัย "ความไม่สำเร็จ" ในช่วงแรกเริ่มของโครงการแก้แล้ง แก้จน แก้เจ็บพบว่า สิ่งสำคัญคือขาด "ข้อมูล" ที่จำเป็นในเรื่องของการจัดการน้ำ อาทิ ข้อมูลผู้ใช้น้ำแต่ละชุมชน ข้อมูลสภาพพื้นที่ และความต้องการการใช้น้ำ ข้อมูลด้านชนิดพืชที่ปลูก และที่สำคัญคือ ข้อมูลน้ำต้นทุนสำหรับแต่ละพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่สำคัญ ที่จะนำมาออกแบบ และวางแผนด้านการจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

"ในกระบวนการทำงานที่ได้กำหนดเงื่อนไขกันแล้วว่า ในหนึ่งชุมชน ต้องมีหัวหน้าโครงการ 3 คน คือ ชาวบ้าน นักวิชาการ และ จากส่วนงานอบจ. ทั้ง 3 ส่วนต้องทำงานประสานงานกัน คือ ชาวบ้านจะทำหน้าเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ของแต่ละโครงการวิจัย โดยมีทีมนักวิชาการค่อยสนับสนุน ซึ่งข้อมูลก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานเช่นปริมาณผู้ใช้น้ำ ปริมาณพื้นที่เกษตร ปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละฤดูกาล ข้อมูลตรงนี้ก็จะนำมาออกแบบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ที่นี้ ในส่วนของ สกว.ทำอะไร โหนดหรือศูนย์ประสานงานก็จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและวิทยากรกระบวนการของแต่ละพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานมีส่วนร่วมมากที่สุด และเมื่อข้อมูลปรากฏออกมา ทางอบจ.ที่ทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณและเครื่องมือ ที่รับรู้ข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ก็จะสามารถสนับสนุน และแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด หรือ เกาถูกที่คันมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เรามีเงื่อนไขใส่ลงไปว่า ชาวบ้านจะต้องตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำกันเองในชุมชนเพื่อให้การกระจายน้ำเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และยั่งยืน"

ภายใต้กระบวนการทำงานที่ มัสยา คำแหง ผู้ประสานงานศูนย์ประสางานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นตัวแทนจาก สกว. อธิบาย ส่งผลให้การจัดการน้ำในพื้นที่วิจัยนำร่องทั้ง 8 พื้นที่มีความชัดเจนมากขึ้น ชาวบ้านที่เข้าร่วมในโครงการวิจัยสามารถออกแบบ ระบบ และกลไก บริหารจัดการน้ำได้ในพื้นที่ของตัวเอง มีการตั้งกลุ่มผู้ใช้นำ และกำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกัน บางพื้นมีการศึกษาสภาพของดินก็พบว่าไม่เหมาะสมกับพืชบางชนิด เช่นข้าว ก็เปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลัง (พืชใช้น้ำน้อย) หรือยางพารา ในส่วนของเครื่องมือโดยเฉพาะท่อและเครื่องสูบน้ำ ก็ไม่ได้ปล่อยทิ้งไว้เหมือนเช่นที่ผ่านมา

อุบลฯไม่ได้ขาดน้ำ

"มันยืนยันว่าอุบลฯไม่ขาดน้ำ แต่ขาดเรื่องระบบการจัดการ" มัสยา คำแหง สรุป พร้อมอธิบายว่า ผลที่เกิดขึ้นนอกจากจะยืนยันว่าจังหวัดอุบลราชธานีไม่ได้ขาดน้ำ แต่ยังก่อให้เกิด "กลไก" การทำงานอันเป็นมิติใหม่ภายใต้ความร่วมมือกันของ 4 ฝ่ายคือ ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และชุมชน

"การประสานความร่วมมือ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำของแต่ละพื้นที่ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และที่สำคัญคือดำเนินการโดยชาวบ้านผู้อยู่ในพื้นที่นั้นเอง การดำเนินการที่ผ่านมาได้สร้างนวัตกรรม การบริหารจัดการน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และพร้อมเป็นต้นแบบเพื่อขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์. ดร.สมพร ดวนใหญ่ รองอธิการบดี (วิจัยและพัฒนาท้องถิ่น) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นพร้อมกับเสนอว่า ควรมีการปรับปรุงพัฒนาให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างดียิ่งในอนาคต ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องสืบค้นหาเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่มีการใช้ได้อย่างดีแล้วในอารยะประเทศ นำมาปรับใช้ในประเทศไทย อาทิ Groundwater Recharge ได้มีการนำมาใช้ในหลายแหล่งของประเทศไทย โดยปรับแต่งเทคนิคการใช้ให้เหมาะสม และเรียกขานใหม่ในชื่อ ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โดยสนับสนุนให้อาจารย์ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้เข้ามาร่วมในการทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ มีการจัดการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและทุนเดิมของคนในพื้นที่

"ปัญหาอีสานถ้าแก้ไขเรื่องน้ำได้ก็จะแก้ได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องอาชีพ รายได้ ปัญหาครอบครัว รวมทั้งปัญหาการอพยพแรงงาน และการย้ายถิ่นฐานด้วย"

ขณะที่หน่วยงานสนับสนุนอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทของ อบจ.คือการสนับสนุนงบประมาณสมทบในการวิจัยชุมชน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ สถานที่ ยานพาหนะ และบุคลากร ในการปฏิบัติการวิจัย รวมทั้ง สนับสนุนกระบวนการพัฒนานักวิจัยในองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และนักวิจัยในชุมชน โดยสนับสนุนให้บุคลากรในสังกัดมีส่วนร่วมในการทำงานวิจัย และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติราชการตามปกติ เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและงานบริการวิชาการที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และความต้องการจำเป็นของชุมชนท้องถิ่น

"จากการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมเกษตรกรและชุมชนให้สามารถสร้างฐานองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับสภาพในแต่ละบริบทของชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้นั้นมาพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถยืนบนลำแข้งของตนเองอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป"

HTML::image( HTML::image( HTML::image(