ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non Communicable Diseases (NCDs) ในประชากรมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ โรคไต เป็น 1 ในกลุ่มโรค NCDs ที่พบมากในคนไทย โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบการป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท จากปัญหาดังกล่าว สวรส. จึงได้พัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัย เช่น ศึกษาอุบัติการณ์ของโรค ความชุกและอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนการวิจัยเชิงระบบเพื่อสังเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการจัดการดูแลผู้ป่วย เพื่อนำเอาองค์ความรู้และข้อเสนอแนะที่ได้จากงานวิจัยไปใช้ในการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นแนวทางพัฒนาระบบสาธารณสุขในระยะยาวต่อไป
รศ.พญ.อติพร อิงค์สาธิต เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยการดำเนินโรคและผลลัพธ์ทางคลินิกของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทย เผยว่า จากการติดตามอาสาสมัครที่ร่วมโครงการวิจัยจำนวน 2,396 ราย ใน 20 อำเภอ 10 จังหวัด ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ โดยศึกษาและติดตามรวมระยะเวลา 8 ปี พบอุบัติการณ์การเกิดโรคไตเรื้อรัง 28% ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะยังคงป่วยในระยะที่ 1 และความผิดปกติของไตส่วนใหญ่คือการรั่วของโปรตีนอัลบูมิน โดยพบอุบัติการณ์การเกิดโรคไตเรื้อรังในประชากรเขตเมืองมากกว่าชนบท ทั้งนี้สาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรังที่วินิจฉัยโดยอายุรแพทย์โรคไต ได้แก่ โรคไตจากความดันโลหิตสูง โรคไตจากเบาหวาน และโรคไตอักเสบ นอกจากนี้เป็นที่น่าสนใจว่าอาสาสมัคร มีอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 6 โดยสาเหตุการตายที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีภาวะจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และปัจจัยด้านฐานะคือ เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย
ข้อเสนอจากงานวิจัยเสนอให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มกระบวนการคัดกรองโรคไตเรื้อรังในประชากรที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติการณ์เกิดโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ กลุ่มประชากรที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีรายได้น้อย ให้ได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังเป็นประจำทุกปี เนื่องจากพบการเกิดโรคได้บ่อยเกิน 1 ใน 5 ของประชากรเหล่านี้ โดยควรจัดการตรวจเลือดวัดค่าครีเอตินีนและตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาโปรตีนอัลบูมินรั่ว บรรจุเข้าไว้ในการตรวจคัดกรอง เพื่อให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมตามแนวเวชปฏิบัติต่อไป รวมถึงให้หน่วยบริการเพิ่มความตระหนักในการดูแลผู้ป่วย โดยควรติดตามรักษาโรคเบาหวาน ภาวะกรดยูริคในเลือดสูง เพื่อเป็นแนวทางในการชะลอไตเสื่อม
ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทีมวิจัยประเมินผลและถอดบทเรียนการดำเนินงานของคลินิกโรคไตเรื้อรังภายใต้นโยบายกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การวิจัยดังกล่าวเพื่อประเมินผลการดำเนินงานจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้โรงพยาบาลมีการจัดตั้งคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD Clinic) ผลจากการศึกษาจากโรงพยาบาล 144 แห่ง ใน 12 เขตสุขภาพ พบว่าแนวทางการจัดตั้งคลินิกโรคไตเรื้อรังมีการปฏิบัติตามนโยบาย ร้อยละ 70.71 มีการจัดตั้งขึ้นเองตามนโยบายของผู้บริหารโรงพยาบาล ร้อยละ 22.14 และไม่มีการจัดตั้ง ร้อยละ 7.14 จากข้อจำกัดของสถานที่ บุคลากร และงบประมาณ ในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า แม้นโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขชัดเจน แต่การปรับใช้สู่การปฏิบัติยังทำได้ไม่ครอบคลุม โดยยังขาดการสนับสนุน อาทิ เครื่องมือที่มีความจำเป็นในคลินิกฯ เช่น อุปกรณ์ในการตรวจโปรตีนปัสสาวะที่ไม่เพียงพอ หรือการไม่มีเครื่องมือวัดความเค็มในอาหาร เป็นต้น ความต้องการทีมสหวิชาชีพ เช่น นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร แพทย์/พยาบาลเฉพาะทางโรคไต ผู้ดูแลผู้ป่วยในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีงานที่ต้องการการส่งเสริมพัฒนา เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้ทีมบุคลากรผู้ดูแลหรือปฏิบัติงาน การพัฒนานวัตกรรมสำหรับดูแลผู้ป่วย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อติดตามผู้ป่วย
ผศ.ดร.สิริมา กล่าวสรุปข้อเสนอจากงานวิจัยว่า นโยบายการจัดตั้งคลินิกโรคไตเรื้อรังเป็นนโยบายที่ควรดำเนินการต่อ แต่ควรสนับสนุนทรัพยากร องค์ความรู้ให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และงบประมาณ แผนอัตรากำลังในการผลิตนักกำหนดอาหาร ให้เพียงพอในสถานพยาบาลและมีอัตราตำแหน่งรองรับ หรือการแชร์ทรัพยากรร่วมกันในเขตสุขภาพ กำหนดกรอบอัตรากำลังบุคลากรในคลินิกฯ และวิเคราะห์ภาระงานของผู้ปฏิบัติงานในคลินิก เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนการติดตามและประเมินผลนโยบายอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในเวทีมหกรรมแสดงผลงานวิชาการด้านสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ สวรส. ยังได้นำเสนองานวิจัยที่เกี่ยวกับกลุ่มโรค NCDs ด้วย ได้แก่ งานวิจัยเรื่องภาระและระบบการดูแลโรคหลอดเลือดส่วนปลาย, การวัดปริมาณน้ำตาลบนอัลบูมินเพื่อติดตามภาวะเบาหวาน, ภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะหอบเฉียบพลันและฟังปอดพบเสียงวิ๊ด, การปรับปรุงผลทางคลินิกในการรักษาโรคไต ผ่านระบบทะเบียนโรคโกลเมอรูลัสในประเทศไทย, ผลของการออกกำลังและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทย, ประสิทธิผลและประสิทธิภาพของเครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐและเอกชน, อัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานและการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยการนอนหลับและระดับกรดยูริคในเลือดกับระดับ HbA1c ในเลือดในผู้ที่มีภาวะ pre-diabetes