ย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มหนึ่ง ได้ลงพื้นที่เรียนรู้และทำงานร่วมกับชุมชนบ้านดอนตะโหนด หรือเรียกว่า "การเรียนรู้โดยมีชุมชนเป็นฐาน" โดยกระตุ้นให้ชาวบ้านมองเห็นและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ว่าเป็นจุดเด่นที่นำมาพัฒนาให้บ้านดอนตะโหนดกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้ จนสามารถเกิด "การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism)" ขึ้นมา ในลักษณะฐานการท่องเที่ยวเรียกว่า "คุ้มบ้าน" ที่โดดเด่นด้วยรูปแบบเที่ยว พักผ่อน เรียนรู้ ไปพร้อมกัน
โครงการนี้ทำให้คนดอนตะโหนดได้ตระหนักรู้และภูมิใจในคุณค่าของวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของตนเอง นอกจากนี้ ยังเกิดรายได้ให้แก่ชุมชนด้วย ส่วนตัวน้อง ๆ เอง ก็เติบโตขึ้นทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต จากการลงทำงานในพื้นที่จริงตั้งแต่การเรียนปี 2 ซึ่งเปรียบดั่งสนามซ้อมของการทำงานจริง ระหว่างการทำโครงการนี้เอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของน้อง ๆ ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ในชุนชน พบว่าในหมู่บ้านยังขาดการจัดการความรู้ด้านการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งนั่นคือการส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอันเป็นส่วนสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านดอนตะโหนด
"ผศ.ดร.ประสาร ฉลาดคิด ซึ่งเป็นอาจารย์พี่เลี้ยงท้องที่ พบว่าในหมู่บ้านมีเกษตรกร 3 กลุ่ม คือทำสำเร็จเลย กลุ่มคนที่ทำมาได้กลาง ๆ คือเกษตรยั่งยืนครึ่งหนึ่ง ส่วนครึ่งยังเป็นเกษตรเคมี และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ไม่ประสบความสำเร็จแล้วล้มเลิกไปกลางคันเลย ซึ่งทาง อ.ประสาร ท่านสนใจว่ากลุ่ม 1 ทำอย่างไร กลุ่ม 2 ต้องการอะไรเพิ่ม และกลุ่ม 3 เกิดอะไรขึ้น ซึ่งยังไม่มีการคุยและจัดองค์ความรู้ส่วนนี้ จึงมีการชักชวนให้ทางคณะวิทยาการเรียนรู้เข้าร่วมเพื่อไปถอดบทเรียนเรื่องเกษตรยั่งยืนให้ได้องค์ความรู้ขึ้นมา เพราะเกษตรยั่งยืนก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการท่องเที่ยวที่นี่ด้วยเหมือนกัน" ผศ.ดร.สิทธิชัย ได้บอกกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนักศึกษา คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยทำโครงการด้านการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนจึงอาสามาร่วมงานกันอีกครั้งกับโจทย์ที่ท้าทายขึ้น โดยมีการร่วมมือกับทางทีมงานของ คุณศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ หรือ คุณมะโหนก กระบวนกรผู้ร่วมก่อตั้ง BlackBox และ ผศ.ดร.ประสาร ฉลาดคิด มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ที่นำนักศึกษามาทำงานร่วมกัน
"การที่คณะทำงานได้ใช้เวลาคลุกคลีกับชาวบ้านร่วม 3 วันเต็ม โดยน้อง ๆ ได้ใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ได้เรียนมา รวมถึงเทคนิคใหม่ ๆ จากทีมคุณมะโหนก ทำให้ได้ข้อสรุปว่าในรอบ 10 ปีนั้น เกิดอะไรขึ้น เป็นการดึงองค์ความรู้มาจากประสบการณ์ของชาวบ้านแต่ละคนออกมาขึงให้เห็นเป็นภาพ ทำให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ไปด้วย ว่าตนเองยังติดขัดอะไร หรือจุดไหนต้องได้รับการเสริมเพื่อไปต่อให้ถึงเป้า และที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นกำลังหลักจะได้เข้าใจหมู่บ้านอย่างแท้จริง การรับนโยบายและดำเนินการจะได้มีความเหมาะสมกับสภาพของชุมชน" ผศ.ดร.สิทธิชัยสรุป
การทำงานครั้งนี้ถือเป็นการเติบโตขึ้นอีกขั้นของชุมชนและคนทำงาน นอกเหนือจากความภูมิใจในสิ่งที่ตนเองมีและเป็นอยู่ ชุมชนยังได้เครื่องมือ เช่น การทำแผนที่ การทำประวัติหมู่บ้าน และกระบวนการ เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงการเรียนรู้ ที่มีความยั่งยืนมากกว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ คงไม่เกินเลยไปนักหากบอกว่าเหล่านี้มาจากจุดเริ่มต้นของคนทำงานรุ่นใหม่อย่างเช่นน้อง ๆ นักศึกษา คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เข้ามาช่วยกันคลี่คลายศักยภาพของคนในดอนตะโหนดให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งเริ่มออกผลให้เห็นจากภาพหนุ่มสาววัยทำงานที่เริ่มกลับเข้ามาสู่ถิ่นฐานและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทั้งการประกอบกิจการและการให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน เพราะเล็งเห็นว่ากิจกรรมในชุมชนบ้านเกิดก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้ ซึ่ง ผศ.ดร.สิทธิชัย และน้อง ๆ เล่าถึงข้อค้นพบจากประสบการณ์ร่วมกับชุมชนว่า การทำงานที่ไม่ฉาบฉวย ไม่นำความคิดเข้าไปครอบงำชาวบ้านแต่ปล่อยให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการคิด ออกความเห็น รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การทำงานร่วมกับชุมชนประสบผลสำเร็จ และแข็งแรงพอจะต่อยอดอย่างมั่นคงในอนาคต
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit