แนะ ชาวนา เร่งปรับตัวหันปลูกพืชใช้น้ำน้อย รับมือภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

28 Sep 2018
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
แนะ ชาวนา เร่งปรับตัวหันปลูกพืชใช้น้ำน้อย รับมือภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

นักวิชาการ แนะ ชาวนา เร่งปรับตัวหันปลูกพืชใช้น้ำน้อย รวมถึงเลื่อนเวลาปลูกข้าว รับมือภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเป็นพื้นที่ที่มีการใช้น้ำชลประทานมากที่สุดในฤดูแล้ง โดยรัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนให้ความรู้และเทคโนโลยีแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาเกษตรกร ชาวนาไทย ทำนาปลูกข้าวทั้งนาปี และนาปรัง เลี้ยงประชากรทั้งในประเทศ และส่งออกขายยังต่างประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล แต่ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งหนักขึ้น ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง และสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน ต้องหยุดการปลูกข้าวนาปรังเป็นจำนวนมาก ในขณะที่พื้นที่ในเขตชลประทานเองก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำเช่นกัน

สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการตกของฝนที่เลื่อนไปตกในภาคกลางและภาคใต้เพิ่มขึ้น และจำนวนวันที่ฝนตกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มลดลง และอาจเกิดภาวะฝนแล้งขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้การปลูกข้าวนาปรังลดลงอย่างมาก แต่พื้นที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อยกลับไม่เพิ่มขึ้น แม้รัฐสนับสนุนให้มีการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยใน "โครงการการปรับตัวต่อภาวะภัยแล้งของเกษตรกรทำนาในพื้นที่ชลประทาน พร้อมประเมินโครงการบูรณาการความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อภัยแล้ง" ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) เพื่อศึกษาผลกระทบจากภัยแล้งต่อการทำนาของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน และศึกษาพฤติกรรมการปรับตัวของเกษตรกรต่อภาวะฝนแล้ง จากกลุ่มเกษตรกรทั้งสิ้น 1,175 ตัวอย่าง ในพื้นที่ชลประทาน 8 จังหวัด ใน 3 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และจังหวัดตาก ภาคกลาง ประกอบด้วย นครสวรรค์ ชัยนาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา

รองศาสตราจารย์ ดร.มาฆะสิริ เชาวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเกษตร จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการศึกษาข้อมูลการทำนาปรัง และนาปีในพื้นที่เขตชลประทาน การปีเพาะปลูก 2558/2559 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนธันวาคม 2559และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำย้อนหลัง 10 ปี ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำและน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งติดต่อกัน 3 ปี และเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการบูรณาการความช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ

จากการศึกษาข้อมูลระหว่างปี 2550 - 2559 พบว่า ปริมาณน้ำรวมในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี จะลดลงเฉลี่ย2,363.764 ล้านลบ.ม.ต่อปี โดยปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือลดลงเฉลี่ย 1,102.703 ล้านลบ.ม.ต่อปี มากกว่าการลดลงของน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของทุกภาค และการลดลงของปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ชลประทานในเขตภาคเหนือ ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนช่วงต้นฤดูแล้งได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือ พื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังพื้นที่ชลประทานในเขตภาคกลาง ที่สำคัญยังพบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเป็นพื้นที่ที่มีการใช้น้ำชลประทานมากที่สุดในฤดูแล้ง

นักวิจัย กล่าวว่า "ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวนาในพื้นที่เขตชลประทาน จะปลูกข้าวนาปี 1 ครั้ง และปลูกข้าวนาปรัง ปีละ 2 ครั้ง แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชาวนาในพื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่เริ่มปลูกข้าวได้น้อยลง จึงเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาภัยแล้งเริ่มทวีความรุนแรงและต่อเนื่องไปในอนาคต ดังนั้น ชาวนาจะต้องมีการปรับตัว หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเพาะปลูก เพราะหากไม่ปรับตัวก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก"

จากการศึกษาดังกล่าว พบว่า ตัวแปรพื้นฐาน และตัวแปรเชิงนโยบาย มีผลกระทบสำคัญต่อการปรับตัวของเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องของอายุและระดับการศึกษา ซึ่งเกษตรกรที่มีประสบการณ์ และอายุมากกว่าจะมีการปรับตัวยาก ต่างจากเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่มีการศึกษาจะยอมรับและพร้อมปรับตัวได้ดีกว่า แต่จำนวนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่มีน้อยเนื่องจากส่วนใหญ่ออกไปทำงานในเมือง

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่ทำให้เกษตรกรชาวนายังไม่ปรับตัว จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 21.4 บอกว่า ไม่มีความรู้ในการปลูกพืชทดแทน รองลงมาร้อยละ 18.8 ไม่มีความรู้ในเรื่องตลาด ส่วนร้อยละ18.2 ระบุว่า พื้นที่ไม่เพียงพอในการปลูกพืชชนิดอื่น ร้อยละ 4.9 มองว่า ราคาพืชผลไม่จูงใจ และสุดท้ายร้อยละ1.2 ระบุว่า ทางการไม่มีโครงการประกันราคา

ในด้านการปรับตัวของการทำนาต่อภัยแล้งที่เห็นชัดที่สุด จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรชาวนามีการปรับการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในหลายรูปแบบ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดค่าใช้จ่าย โดยมีการใช้ผลผลิตข้าวเปลือกจากฤดูก่อนมาเป็นเมล็ดพันธุ์ มีการเก็บผลผลิตข้าวเปลือกนาปีไว้เพื่อบริโภคในครอบครัว และใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในครั้งต่อไปมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในฤดูการปลูกข้าวนาปีจากข้าวขาวมาเป็นข้าวหอมมะลิ 105 มากขึ้น โดยในปี 2559 มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.2 ของพื้นที่ปีข้าวนาปีทั้งหมด และพบอีกว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานมีการปรับตัวต่อภัยแล้งได้ดีกว่าภาคอื่นๆ มีการปลูกข้าวไว้บริโภค เช่น จังหวัดขอนแก่นและอุตรดิตถ์ หันมาปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภคเองมากขึ้น และมีการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะไก่ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตปกติของคนภาคอีสาน ต่างจากภาคเหนือที่ปรับตัวได้ค่อนข้างน้อยมาก

นอกจากนี้ การปรับตัวของเกษตรกรที่เห็นได้ชัดอีกด้าน คือ การเลื่อนเวลาเริ่มปลูกข้าวนาปี จากเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม มาเป็นเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ส่วนการปรับตัวไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรังนั้น พบว่า มีไม่มาก เหตุผลสำคัญคือ ความไม่คุ้นเคยของเกษตรกรกับตลาดพืชทดแทนมากกว่าความไม่รู้ในวิธีหรือเทคนิคการเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการศึกษาจะพบว่า ชาวนาในเขตพื้นที่ชลประทานร้อยละ 60 เริ่มที่จะตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งและเริ่มมีการปรับตัว โดยหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อย่าง ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว แต่ก็ยังมองว่าภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เรื่องการหาแหล่งน้ำ , การจัดหาเม็ดพันธุ์ที่ใช้น้ำน้อย , การหาตลาดรับซื้อพืชผลทางการเกษตร ขณะที่ชาวนาอีกร้อยละ 40 ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก ยังคงยึดมั่นในการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เพราะมีความถนัดมากกว่าที่จะหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย

รองศาสตราจารย์ ดร.มาฆะสิริ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า " เกษตรกรชาวนา ควรจะต้องตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งให้มากขึ้น เพราะภัยแล้งเป็นปัญหาในระยะยาว และมีแนวโน้มที่จะยิ่งทวีความรุนแรงและต่อเนื่อง เกษตรกรควรเริ่มหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเพาะปลูก ไม่เน้นเพียงการพึ่งพาจากภาครัฐเพียงเท่านั้น เช่น ลดพื้นที่ปลูกข้าว หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนในช่วงหน้าแล้ง หรือการหาแหล่งน้ำที่เป็นของตัวเอง แทนที่จะให้รัฐเข้าไปแก้ปัญหาให้เพียงฝ่ายเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก ขณะเดียวกันภาครัฐก็จำเป็นต้องมีนโยบายให้การส่งเสริมและสนับสนุนต่อการปรับตัวของชาวนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นอกจากการหาเมล็ดพันธุ์ หรือหาตลาดรองรับผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรชาวนาหันมาปลูกพืชทดแทนการทำนาปรังแล้ว ยังรวมถึงการให้ความรู้ และเทคโนโลยี วิธีการเพาะปลูก โดยเฉพาะกับเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างตรงเป้าหมาย ซึ่งจะลดการพึ่งพาจากภาครัฐลงไปได้

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออีก 3 เรื่อง คือ 1.ให้ภาครัฐสร้างความคุ้นเคยเรื่องตลาดให้กับเกษตรกรและควรให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง โดยพาณิชย์จังหวัด ควรจัดเวทีเกษตรกรพบผู้รวบรวมผลผลิต หรือผู้รับซื้อก่อนฤดูการเพาะปลูก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเกษตรกรกับผู้ต้องการซื้อ ทำให้เกษตรกรได้เริ่มรู้จักตลาด 2. โครงการธงฟ้าปัจจัยการผลิต จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ แทนโครงการธงฟ้าสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างเดียว และ 3.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ควรเป็นโครงการระดับจังหวัดมากกว่าระดับส่วนกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความล่าช้า และทำให้เกษตรกรได้ชนิดของพืชหรือสัตว์ที่ตนต้องการ

แนะ ชาวนา เร่งปรับตัวหันปลูกพืชใช้น้ำน้อย รับมือภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แนะ ชาวนา เร่งปรับตัวหันปลูกพืชใช้น้ำน้อย รับมือภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แนะ ชาวนา เร่งปรับตัวหันปลูกพืชใช้น้ำน้อย รับมือภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น