อาจารย์ธเนศ วิลาสมงคลชัย หัวหน้าสาขาวิชาการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) ผู้ผลิตและคิดค้น กล่าวว่า เรือสำเภาจำลองนี้เป็นฉากหนึ่งของการแสดงโขนพระราชทาน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ โดยเป็นการจับมือสร้างร่วมกันระหว่างวิทยาลัยฯ กับศูนย์ศิลปาชีพฯ เกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
"ทางศูนย์ศิลปาชีพฯ เกาะเกิดได้ขอความร่วมมือให้ทางวิทยาลัยฯ เข้าไปช่วยพัฒนาเรือสำเภาให้สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ผสมผสานระหว่างงานทางด้านเทคโนโลยีและศิลปวัฒนธรรมเป็นครั้งแรกที่ทางวิทยาลัยฯ ได้ทำงานตรงนี้"
สิ่งที่ทำให้เรือโขนจำลองลำนี้แตกต่างจากเรือโขนในแบบเดิม คือ สามารถเคลื่อนไหวได้จริงเหมือนกับเรือแล่นอยู่บนเวที นอกจากนี้ ยังสามารถโยกเรือขึ้นลงตามจังหวะคลื่นได้ด้วยเสมือนเรือกำลังมีการโคลงจากคลื่นลมจริงๆ โดยบังคับผ่านระบบควบคุมไร้สาย เรือสำเภาจำลองนี้มีขนาดยาว 3.7 เมตร น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม
สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการทำงานนั้นด้วยพื้นที่ในการทำงานที่จำกัด และน้ำหนักของเรือที่ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องมีการทบทวนเรื่องอุปกรณ์ขับเคลื่อนเพื่อให้เรือสามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ ตลอดจนเวลาที่ค่อนข้างจำกัดในการผลิต คือ มีระยะเวลาดำเนินการ 10 วันเท่านั้น ส่วนการพัฒนาขั้นต่อไปจะทำการร่วมพัฒนาฉากต่างๆ ของโขน เพื่อให้มีความน่าสนใจให้ทันยุคสมัย และให้ดำรงความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบไป
"นอกจากการสร้างเรือโขนแล้วซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานระหว่างงานทางด้านเทคโนโลยีและศิลปวัฒนธรรมแล้ว ในอนาคตวิทยาลัยฯ จะสร้างงานนวัตกรรมเพื่องานบันเทิงอื่นๆ อีกไม่ว่าจะเป็นงานแสดง เครื่องเล่นซิมูเลเตอร์"
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเรือโขนหนึ่งในฉากของการแสดงโขนพระราชทาน ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ทุกสาขา หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนพระราชทาน (อ่านข่าวต่อ https://bit.ly/2Q3yHmK)