ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาสที่ ๓/๒๕๖๑ เท่ากับ ๙๖ อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนโดยปัจจัยกดดันจากนโยบายการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนทำให้การค้าโลกชะลอลง อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าตามการไหลกลับของเงินทุนไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นประกอบกับความเชื่อมั่นสกุลเงินของประเทศเศรษฐกิจที่เกิดใหม่ลดลงจากปัจจัยวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศตุรกี ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรประเทศอิหร่านส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกขาดแคลน รวมถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาสนี้ ส่วนไตรมาสที่ ๔/๒๕๖๑ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ ๑๐๓ เนื่องจากปัจจัยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวจากฤดูกาลท่องเที่ยว การขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำและการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น จึงคาดว่าในปี ๒๕๖๑ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน ๓๗.๑๙ ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๐๘ จากปี ๒๕๖๐ สร้างรายได้จำนวน ๑.๙๗ ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๑๖ จากปี ๒๕๖๐
การสำรวจในไตรมาสที่ ๓/๒๕๖๑ พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ๘.๙๐ ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๓๗ จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนในไตรมาส ๔/๒๕๖๑ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม ๘.๘๑ ล้านคน ลดลงร้อยละ ๕.๑๗ จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ๒.๔๓ ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๔๐ นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก ๒.๙๕ ล้านคน ลดลงร้อยละ ๑๖.๑๙ นักท่องเที่ยวจากยุโรปจะอยู่ที่ ๑.๙๕ ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๕๖ จากปี ๒๕๖๐ ไตรมาสที่ ๓/๒๕๖๑ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ร้อยละ ๒๖ สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ขณะที่ไตรมาส ๔/๒๕๖๑ มีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางในประเทศ ร้อยละ ๒๙ ซึ่งสูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อนเช่นกัน
โดยสรุปตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมุมมองของผู้ประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น ด้วยปัจจัยที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมกับนโยบายประชาสัมพันธ์พื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องแต่ยังคงต้องระวังผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวชาวจีน สทท.จึงขอเสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาผลกระทบจากกรณีเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เร่งพัฒนาการคมนาคมขนส่งให้มีมาตรฐานเชื่อมต่อระบบการเดินทางต่างๆ ให้ครอบคลุมโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมการพัฒนาความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ ในส่วนของผู้ประกอบการควรพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชน เคร่งครัดและรับผิดชอบต่อมาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อนักท่องเที่ยวและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง พัฒนาและปรับตัวเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของธุรกิจตนเองให้สอดคล้องกับนโยบายที่ภาครัฐส่งเสริมในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ โดยเฉพาะในด้านภาษา ความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการให้บริการ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีคุณภาพ
วิเคราะห์ทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากแหล่งข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Big Data)
นายศิเวก สัจเดว ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมนด์ทรี กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Big Data) ที่มีต่อประเทศไทยในไตรมาสที่ ๓ ปี ๒๕๖๑ ว่า ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์โดยนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ โดยในการประมวลผลดัชนีความพึงพอใจสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวนั้นทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท ไมนด์ทรี ได้ทำการพัฒนาโมเดลและระบบปัญญาประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับดัชนี World Economic Forum Travel & Tourism Competitiveness Index จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ไตรมาส ๓ ปี ๒๕๖๑ จังหวัดกระบี่กลับมาเป็นอันดับ ๑ ในด้านของความพึงพอใจ โดยจะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีทัศนคติที่เป็นบวกต่อกระบี่มากที่สุด ส่วนเมืองท่องเที่ยวที่มีทัศนคติที่เป็นลบเยอะที่สุด ได้แก่ พัทยา แต่ในทางกลับกันทัศนคติที่เป็นบวกของพัทยาก็เพิ่มขึ้นในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์หลังจากมีมาตรการปรับ ๕,๐๐๐ บาท หากพบว่านักท่องเที่ยวไม่มีใบขับขี่และไม่สวมหมวกนิรภัยรวมไปถึงผู้ให้เช่าก็จะได้รับโทษด้วยเช่นกัน ในขณะที่เหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ตยังส่งผลกระทบน้อยในสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งทัศนคติด้านบวกของนักท่องเที่ยวที่มีต่อจังหวัดภูเก็ตยังมีประมาณร้อยละ ๔๐ และทัศนคติที่เป็นด้านลบร้อยละ ๑๐
จากผลการสำรวจในการวิเคราะห์ความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว พบว่าในช่วงกลางปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาว และมีจำนวนเที่ยวบินจากเมืองหลักๆ ของประเทศอินเดียที่มากขึ้น จากการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ทำการตลาดไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้การติดตามข่าวสารของคนอินเดียก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะในเมืองที่ถือว่ามีศักยภาพในการใช้จ่าย อาทิเช่น เมืองเดลี ที่จะมีการพูดภาษาฮินดีสลับกับภาษาอังกฤษเป็นหลัก สิ่งที่พบได้อย่างชัดเจนก็คือในช่วงกลางปีจะมีสื่อหรือเนื้อหาที่เป็นวีดีโอค่อนข้างเยอะและมีจำนวนการเข้าชมและการติดตามค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องการช็อปปิ้งและอาหารในกรุงเทพ เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียก็คืออาหารอินเดียในประเทศไทย โดยวีดีโอที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง คือ การพาชิมอาหารไทย หรือ Street Food โดย ผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลชาวอินเดีย และวีดีโอทำการเปรียบเทียบอาหารไทยกับอาหารอินเดียว่าคล้ายกันอย่างไร ทำให้คนอินเดียเข้าใจง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแม็กกี้ของประเทศอินเดีย โดยจำนวนผู้เข้าชมส่วนใหญ่มีการกล่าวถึงกรุงเทพในเชิงบวก ชื่นชมวีดีโอดังกล่าวซึ่งทำให้ต้องการเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ และยังมีการพูดถึงคนไทยว่าเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยความมีน้ำใจ
ในขณะเดียวกันสื่อวีดีโอที่มีคนกล่าวถึงและเป็นที่นิยมอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ วีดีโอการเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพกับเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเป็นการให้ความคิดเห็นส่วนตัวโดยผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลและวิดีโอ Blogger ที่มีคนติดตามเกิน ๑ ล้านคน ซึ่งทำการเปรียบเทียบวีดีโอดังกล่าวในมุมมองของคนที่เป็น Digital Nomad ซึ่งในขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่กลุ่มคนที่เป็นฟรีแลนซ์ จากทั่วทุกที่ในโลก โดยทางเจ้าของวิดีโอนั้นมีการเปรียบเทียบทั้งหมด ๕ หมวด ได้แก่ อาหาร กิจกรรม ผู้คน lifestyle และ night life โดยเสียงส่วนใหญ่จะบอกว่ากัวลาลัมเปอร์นั้นเหนือกว่ากรุงเทพในด้านของอาหาร ภาษา ความสะอาด และความปลอดภัย แต่กรุงเทพมีความได้เปรียบในเรื่องกิจกรรมที่หลากหลายกว่า ซึ่งในมุมมองข้างต้นนั้นเป็นเพียงทัศนคติของคนที่เป็น Digital Nomad ที่ต้องการพำนักระยะยาว และทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกันเท่านั้น เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินจึงออกมาเป็นสำหรับ Digital Nomad ไม่ใช่นักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป โดยในไตรมาสที่ ๓ ปี ๒๕๖๑ ภาครัฐและเอกชนควรติดตามในเรื่องของทัศนคติเกี่ยวกับความปลอดภัยในพัทยา หลังจากมีมาตรการการปรับ ๕,๐๐๐ บาท หากไม่มีใบขับขี่และทำความเข้าใจกับกลุ่ม Digital Nomad ที่เข้ามาพำนักระยะยาวและทำงานในเมืองไทย ว่ามีความคาดหวังอะไรบ้าง รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการทำตลาดเพื่อส่งเสริมกลุ่ม Digital Nomad หากมีศักยภาพในการใช้จ่ายและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการตลาดสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย รวมไปถึงการร่วมกันส่งเสริมการตลาดกับผู้มีอิทธิพลบนโลกโซเชียลชาวอินเดียต่อไป
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โทร ๐๒ ๒๕๐ ๕๕๐๐ ต่อ ๑๖๔๖-๑๖๔๘ อีเมลล์ [email protected]
ข้อมูลเกี่ยวกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรภาคเอกชนจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการประสานงานอย่างมีระบบระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนโดยปัจจุบันมีสมาชิกสามัญเป็นสมาคมผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ จำนวน ๙๙ สมาคม และสมาชิกวิสามัญเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจำนวน ๑๑๗ ราย สมาชิกกิตติมศักดิ์จำนวน ๖ ราย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit