กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงาน “รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย 4 ภูมิภาค” สานพลังทั่วไทยสร้างนิเวศสื่อดี ส่งเสริมเยาวชนและประชาชนทั่วไทยรู้เท่าทันสื่ออย่างเข้มแข็ง

25 Sep 2018
การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในกระบวนการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม เกิดสื่อรูปแบบใหม่ ๆ ที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ กระตุ้นการรับรู้ ดึงดูดความสนใจ ตลอดจนสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมทั้งในด้านบวกและด้านลบ การมุ่งพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงกลายเป็นวาระสำคัญของประเทศชาติในการส่งเสริมสุขภาวะทุกมิติ สร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน ให้เกิดความฉลาดรู้เท่าทันสื่อ และมีวิจารณญานที่ดีในการรับชมและเลือกบริโภคสื่อที่แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในรูปแบบต่าง ๆ
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงาน “รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย 4 ภูมิภาค” สานพลังทั่วไทยสร้างนิเวศสื่อดี ส่งเสริมเยาวชนและประชาชนทั่วไทยรู้เท่าทันสื่ออย่างเข้มแข็ง

ภารกิจการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีจุดเริ่มต้นจากการที่ภาครัฐและภาคประชาชน ต้องการให้เกิดสื่อดี สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกิดในสังคมมากขึ้นๆ จึงได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ปี 2551 จนมีการก่อตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในปี 2558 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนผู้ผลิตสื่อทุกภาคส่วนให้ผลิตสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยออกสู่สังคมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มาจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ปี 2560 – 2564 กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อการเสริมสร้างให้สื่อในสังคมไทยมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนในสังคม ทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ ปลอดภัย และสร้างสรรค์

การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้ริเริ่มจัดงาน "รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย" ครั้งแรก ในปี 2560 เพื่อให้เป็นเวทีแสดงถึงการรวมพลังครั้งใหญ่ของทุกภาคส่วน ในการร่วมสร้างและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทย

จากความสำเร็จของงานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทยในปีที่แล้ว จึงมีการดำเนินการโครงการรวมพลังสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเวทีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการผลักดันให้เกิดการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งเชิดชูผู้ผลิตสื่อดีอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางขึ้นในปี 2561 อีก โดยขยายการจัดงานไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยเน้น กิจกรรมแรก คือ เปิดพื้นที่ใน 4 ภูมิภาคของประเทศให้ผู้ประกอบการด้านสื่อ องค์กรภาคีเครือข่าย และประชาชนทั่วไปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรวมตัวกันเพื่อเป็นแนวร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่วนกิจกรรมที่สองเป็นการมอบรางวัลเชิดชูผลงาน องค์กร และบุคคลผู้มีความโดดเด่นทางด้านการสร้าง ส่งเสริม และพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้แก่สังคม

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า "การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้งก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน เมื่อเกิดคุณประโยชน์ในด้านหนึ่ง ก็ย่อมมีภัยอีกด้านหนึ่งอยู่เสมอ ปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย และสื่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย จึงเกิดข้อมูลทั้งเป็นประโยชน์ และมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายสำหรับผู้รับสารไปในขณะเดียวกัน และต้องยอมรับว่าข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะมือถือมีอิทธิพลมากต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ทางกองทุนเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงพยายามหาแนวทางและเครือข่ายในการร่วมกันดูแลทำให้เกิดสื่อที่มีความปลอดภัยในสังคม ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีการจัดงานระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกเพื่อรับฟังและระดมแนวคิดอีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นคุณภาพของสื่อมากยิ่งขึ้น"

งานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทยใน 4 ภูมิภาค เริ่มจัดขึ้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ตามด้วยภาคอิสาน จังหวัดมหาสารคาม ในวันที่ 2 กันยายน 2561 ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 5 กันยายน 2561 และปิดท้ายที่ภาคกลาง ที่จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 7 กันยายน 2561

  • ภาคเหนือ - จัดที่กรีนนิมมาน ซีเอ็มยูเรสซิเดนซ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสื่อมวลชน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงขับซอ "ผ่อเมืองเหนือมุมมองสื่อ" โดยเหล่าศิลปินภาคเหนือ และเวทีเสวนา "สถานภาพ ความท้าทาย และทางออกของสื่อพลเมือง" ผู้ร่วมเสวนา อาทิ ธภัทร มณีรัตน์ เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ชูชาติ อุทัยชิด สมาคมเครือข่ายสื่อท้องถิ่นเมืองพระร่วง ชัยวัฒน์ จันธิมา พะเยาทีวี และ Tor Zaw Latt จาก Democratic Voice of Burma (DVB) ประจำประเทศเมียนมาร์ และ รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย ดร. รดี ธนารักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ปิดท้ายด้วยพิธีมอบรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ภาคเหนือแก่ผู้ชนะการประกวดจำนวน 9 ประเภท
  • ภาคอีสาน - จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงหมอลำหุ่นกระติบข้าว คณะเด็กเทวดา, วงดนตรีสะไนใจเยอ, การเสวนาในหัวข้อ "สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในยุคไทยแลนด์ 4.0" และทอล์คโชว์โดยอดีตผู้สื่อข่าวและอาจารย์ด้านสื่อออนไลน์จากประเทศเวียดนาม
  • ภาคใต้ - จัดที่ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาในหัวข้อ "การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่การขับเคลื่อนภาคใต้แห่งความสุข" และเวทีระดมความคิดเห็นจากการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ นิเวศสื่อกับการมีส่วนร่วม, การรู้เท่าทันสื่อ, การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, การสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ, พลังชุมชน สร้างสื่อ สร้างสรรค์, การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยนักวิชาการ นักวิชาชีพ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม นอกจากนั้น ยังมีการแสดงโนราห์, การแสดงหนังตะลุงเยาวชน การออกบูธแสดงนิทรรศการ การให้ความรู้และความบันเทิงจากภาคีเครือข่ายภาคใต้
  • ภาคกลางและภาคตะวันออก - งานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ประจำปี 2561 ภายใต้ชื่อ "พลังสื่อภาคกลาง พลังสร้างสรรค์สังคม" จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในพื้นที่ภาคกลางทั้ง 26 จังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิต พัฒนา และเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และเชิดชูผลงาน องค์กร และบุคคลที่เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในงานมีสื่อมวลชน และผู้ผลิตสื่อหน้าใหม่ รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประมาณ 800 คน

ผลการจัดงานทั้ง 4 ภูมิภาคที่ผ่านมา ได้รับความสนใจ ความร่วมมือ และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งในอนาคต กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังคงผลักดันและขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป โดยมุ่งเน้นที่การให้ทุนสนับสนุนต่อผู้ผลิต ซึ่งจะเปิดให้ทุนปีละ 1-2 ครั้ง โดยคณะทำงานหรืออนุกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกโครงการ กิจกรรม หรือข้อเสนอที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ตรงวัตถุประสงค์ ส่งผลกระทบต่อสังคมได้มากที่สุด ด้วยวงเงินสนับสนุนประมาณ 240 ล้านบาทในปี 2561 นี้

HTML::image( HTML::image( HTML::image(