สหรัฐฯ ยก "ไทย" แก้ปัญหาแรงงานเด็กสำเร็จสูงสุดต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน

26 Sep 2018
แรงงานเผยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ประกาศรายงานสถานการณ์และการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ประจำปี 2560 จัดระดับประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีความสำเร็จมากซึ่งเป็นระดับสูงสุด ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สร้างความเชื่อมั่นและยอมรับในระดับสากล
สหรัฐฯ ยก "ไทย" แก้ปัญหาแรงงานเด็กสำเร็จสูงสุดต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับยกระดับการคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายได้กำหนดนโยบายในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้วยการเพิ่มโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการตรวจแรงงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จากความพยายามดังกล่าวส่งผลให้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 กระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) ประจำปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ซึ่งประเมินความพยายามและผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ 132 ประเทศทั่วโลก โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด และเป็น 1 ใน 17 ประเทศของรอบการประเมินปี 2560 ที่ได้ระดับนี้ นอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศของอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับในระดับนี้ และนับเป็นปีที่ 2 ที่ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับดังกล่าวต่อเนื่องจากปี 2559

นายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมาก (Significant Advancement) เนื่องมาจากในปี 2560 ประเทศไทยมีความพยายามขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในเรื่อง การจัดล่ามเพื่อช่วยสื่อสารกับคนต่างด้าวและชนกลุ่มน้อยที่ไม่พูดภาษาไทย ไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและศูนย์ตรวจแรงงานที่ท่าเรือ การจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มขึ้นในการสืบสวนอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวกับการละเมิดต่อเด็ก การได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลร่วมกับศูนย์รับแจ้งเด็กสูญหายและถูกแสวงประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ (U.S. National Center For Missing and Exploited Children) เพื่อต่อสู้กับการแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ต่อเด็ก และการออกกฎกระทรวงห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานบางประเภทที่รับไปทำที่บ้าน ทั้งนี้การได้รับการจัดอันดับดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การรักษาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร รวมถึงสร้างการยอมรับของนานาชาติต่อไป