องค์กรด้านการอนุรักษ์นานาประเทศผนึกกำลังช่วยเหลือแรดสุมาตรา

24 Sep 2018
องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (Global Wildlife Conservation) มูลนิธิแรดสากล (International Rhino Foundation) สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี (National Geographic Society) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมมือเปิดโครงการช่วยเหลือแรดสุมาตรา (Sumatran Rhino Rescue)

เนื่องในโอกาสวันแรดโลก (World Rhino Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กันยายน องค์กรด้านการอนุรักษ์นานาประเทศได้ประกาศโครงการความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรเพื่อช่วยเหลือแรดสุมาตราไม่ให้สูญพันธุ์ ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนโครงการขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์แรดสุมาตราของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์ (Species Survival Commission) ภายใต้สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก มูลนิธิแรดสากล เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

แรดสุมาตรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเสี่ยงสูญพันธ์ โดยปัจจุบันแรดพันธุ์ดังกล่าวหลงเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 80 ตัวทั่วโลก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ แรดสุมาตราจะต้องสูญพันธุ์ในไม่ช้า ภายหลังจากที่มีการล่าสัตว์และสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลาหลายสิบปี ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดสำหรับแรดสุมาตราคือระยะทางระหว่างกลุ่มประชากรแรดซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด เมื่อไม่สามารถหาคู่ผสมพันธุ์ได้ แรดสุมาตราวัยเจริญพันธุ์จำนวนมากจึงเสี่ยงมีภาวะเป็นหมันเนื่องจากต้องอยู่เพียงลำพังเป็นระยะเวลานานเกินไป ด้วยประชากรแรดที่กระจายตัวทั่วเกาะขนาดใหญ่จำนวน 2 เกาะในอินโดนีเซียในปัจจุบัน ความหวังที่แรดชนิดนี้จะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักอนุรักษ์ในการค้นหาและเคลื่อนย้ายแรดไปยังศูนย์เฉพาะทางที่ออกแบบขึ้นมา เพื่อดูแลแรดเหล่านี้โดยเฉพาะ

Jon Paul Rodríguez ประธานคณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์ภายใต้สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวว่า "ปัญหาอันใหญ่หลวงนี้ไม่สามารถคลี่คลายให้สำเร็จได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงลำพัง โดยในส่วนของคณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์นัน เรามีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและแตกต่าง เรามั่นใจว่า เราจะได้เห็นแรดสุมาตรากลับมาโลดแล่นอีกครั้ง"

Wiratno ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการป่าไม้ รัฐบาลอินโดนีเซีย กล่าวว่า "การให้ความช่วยเหลือแรดสุมาตราไม่ให้สูญพันธุ์นั้น เป็นพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลอินโดนีเซีย ด้วยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์ ตลอดจนหน่วยงานราชการและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และสร้างความตระหนักรู้ เราได้เตรียมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อพิทักษ์แรด ซึ่งมุ่งเน้นไปที่โครงการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์แห่งชาติ โครงการช่วยเหลือแรดสุมาตราจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง พวกเรายินดีน้อมรับการสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้จากองค์กรต่างๆทั่วโลก"

นับตั้งแต่ที่ได้มีการเริ่มขบวนการเพื่อการอนุรักษ์ดังกล่าว องค์กรและนักวิจัยได้พยายามปกป้องสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม บางครั้งองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ต้องมาแข่งขันกันเองในเรื่องการระดมทุน ทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และการเข้าถึงสัตว์ที่องค์กรต้องการให้ความช่วยเหลือ ปฏิบัติการช่วยเหลือแรดสุมาตราจึงเป็นโครงการที่ช่วยรวบรวมองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ทั้งของอินโดนีเซียและนานาชาติ เพื่อวางแผนและร่วมมือกันช่วยเหลือแรดสุมาตรา โดยร่วมมือกับพันธมิตรและรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อกำจัดอุปสรรคต่างๆนานาข้างต้น

Barney Long ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายอนุรักษ์สายพันธุ์ องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก กล่าวว่า "เป้าหมายร่วมของเราในการริเริ่มโครงการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์โดยการรวบรวมสัตว์ที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ในธรรมชาติ จะนำไปสู่สิ่งที่ผมอยากจะเห็นในชั่วชีวิตนี้ ซึ่งก็คือการดำรงอยู่ของแรดสุมาตรารุ่นต่อไป"

โครงการช่วยเหลือแรดสุมาตรา จะส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์และดูแลแรดใน 3 ด้าน ได้แก่

  • การสร้างศูนย์ดูแล: จัดตั้งเขตอนุรักษ์แรดสุมาตรา จำนวน 2 แห่งในอินโดนีเซีย แห่งแรกอยู่ที่เกาะเบอร์เนียว และอีกแห่งอยู่ที่เกาะสุมาตราเหนือ ตลอดจนขยายอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติเวย์ แคมบัส ที่มีอยู่เดิม
  • การค้นหาและช่วยเหลือ: ดำเนินปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ เพื่อเคลื่อนย้ายแรดสุมาตราที่แยกจากฝูงไปยังศูนย์ขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ที่จัดไว้
  • การปกป้องดูแล: รวบรวมแรดเพื่อเข้าสู่โครงการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์โดยใช้เทคโนโลยีการสัตวแพทย์และสัตวบาลใหม่ล่าสุด ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรแรดให้ได้มากที่สุด

Rizal Malik ซีอีโอกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า "การวิจัย การฝึกอบรม และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่วยให้การร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด และเป็นโอกาสเดียวที่แรดสุมาตราจะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้"

Susie Ellis กรรมการบริหารมูลนิธิแรดระหว่างประเทศ กล่าวว่า "เราใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลากว่า 12 ปีเพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์แรดสุมาตราภายในบริเวณที่จำกัด นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคซึ่งพัฒนาขึ้นที่สวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ซินซินนาติ และนำมาใช้ที่เขตอนุรักษ์แรดสุมาตราในอุทยานแห่งชาติเวย์ แคมบัส มูลนิธิแรดสากลเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยพลิกสถานการณ์อันเลวร้ายที่แรดสุมาตรากำลังเผชิญอยู่ได้"

ความพยายามที่ทะเยอทะยานเช่นนี้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ดังนั้น การเริ่มต้นกิจกรรมระดมทุนระยะเวลา 3 ปี องค์กรพันธมิตรแต่ละแห่งได้ให้คำมั่นว่า จะบริจาคเงินสนับสนุนหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับกองทุนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือแรดสุมาตราซึ่งมีทุนอยู่เกือบ 30 ล้านดอลลาร์

Jonathan Baillie รองประธานบริหารและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี กล่าวว่า "นี่คือโอกาสสุดท้ายที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแรดสุมาตรา ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกันเท่าไรนัก และช่วยกันอนุรักษ์วิวัฒนาการที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ล้านปี ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกัน"

ดูข้อมูลเพิ่มเติมและศึกษาช่องทางการสนับสนุนได้ที่ www.sumatranrhinorescue.org

รับชมภาพแรดสุมาตรา คลิก

เกี่ยวกับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก

องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (Global Wildlife Conservation - GWC) ทำหน้าที่อนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยการปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล เรามุ่งปฏิบัติตามพันธกิจดังกล่าวผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง การป้องกันอาชญากรรมสัตว์ป่า การฟื้นฟูสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และการสร้างภาวะผู้นำด้านการอนุรักษ์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://globalwildlife.org

เกี่ยวกับมูลนิธิแรดสากล

มูลนิธิแรดสากล (International Rhino Foundation - IRF) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรขนาดเล็ก ซึ่งมีอิทธิพลและมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ด้วยการวิจัย เราได้บริจาคเงินทุนและดำเนินโครงการคุ้มครองและอนุรักษ์แรดในแอฟริกาและเอเชีย โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยเน้นการทำงานในพื้นที่ที่ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนซึ่งทรัพยากรที่มีค่าจะส่งผลกระทบได้มากที่สุด วิสัยทัศน์ของมูลนิธิแรดสากลตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าสัตว์เหล่านี้ควรดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้การคุ้มครองแรดยังจะส่งเสริมการอยู่รอดของสัตว์อีกหลายสายพันธุ์ที่อยู่ในถิ่นอาศัยเดียวกัน รวมทั้งมนุษย์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.rhinos.org Twitter: @rhinosIRF

เกี่ยวกับสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) เป็นสหภาพซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลและองค์กรเอกชนต่าง ๆ มีหน้าที่ให้ความรู้และเครื่องมือซึ่งส่งเสริมความก้าวหน้าของมนุษย์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่องค์กรทั้งรัฐบาลและเอกชน ด้วยเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญกว่า 8,000 คน คณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์ (Species Survival Commission) เป็นคณะกรรมการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ คณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์ช่วยส่งเสริมอิทธิพลของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในการช่วยเหลือสังคมเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานภาพและภัยคุกคามของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ตลอดจนให้คำแนะนำ พัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติ ส่งเสริมการวางแผนเพื่ออนุรักษ์ และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iucn.org

เกี่ยวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี

เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี (National Geographic Society) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรระดับชั้นนำ ซึ่งให้ความสำคัญกับทีมงานคุณภาพและความคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่านการสำรวจค้นคว้า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเล่าเรื่อง และการศึกษา ด้วยการมอบทุนและการดำเนินโครงการต่าง ๆ เรามุ่งหวังที่จะสร้างชุมชนแห่งการเปลี่ยนแปลง เพิ่มพูนความเข้าใจที่สำคัญเกี่ยวกับโลกของเรา หาคำตอบให้กับคำถามทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ตลอดจนช่วยให้คนรุ่นต่อไปมีความรู้ทางภูมิศาสตร์และความเข้าใจเกี่ยวกับโลก เป้าหมายของเราคือก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้ ได้แก่ การขยายขอบเขตการสำรวจและให้ความรู้แก่ผู้คนทั่วโลกเพื่อคิดค้นทางแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nationalgeographic.org

เกี่ยวกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund - WWF) เป็นองค์กรอนุรักษ์สัตว์อิสระที่มีขนาดใหญ่และได้รับการเคารพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ด้วยผู้สนับสนุนกว่า 5 ล้านรายและเครือข่ายทั่วโลกในกว่า 100 ประเทศและเขตปกครอง พันธกิจขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลคือการยุติความถดถอยของสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติของโลก และสร้างอนาคตซึ่งมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข โดยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทดแทนอย่างยั่งยืน และสนับสนุนการลดมลภาวะและการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ติดตามข่าวสารและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.panda.org/news และติดตามผ่านทางทวิตเตอร์ได่ที่ @WWF_media

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/745485/National_Geographic_Logo.jpg