“ซีพี ออลล์” ร่วมสานพลัง “CONNEXT ED ระยะที่ 2” สร้างการศึกษาไทยยั่งยืน ส่งผู้นำรุ่นใหม่ลงพื้นที่โรงเรียนประชารัฐกว่า 300 แห่ง

24 Sep 2018
เป็นอีกหนึ่งพลังความร่วมมือระดับชาติหลังจาก 3 ภาคส่วนหลักด้านการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ได้ร่วมกันดำเนินโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย หนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมก่อตั้งโครงการฯ ตั้งแต่ระยะที่ 1 ได้ส่งเสริมให้พนักงานร่วมทำหน้าที่ผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partners (SP) กว่า 80 คนสานต่อพัฒนาการศึกษาไทยในระยะที่ 2 มุ่งเน้น"สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาที่ยั่งยืน" ปักหมุดกว่า 300 โรงเรียนทั่วประเทศ
“ซีพี ออลล์” ร่วมสานพลัง “CONNEXT ED ระยะที่ 2” สร้างการศึกษาไทยยั่งยืน ส่งผู้นำรุ่นใหม่ลงพื้นที่โรงเรียนประชารัฐกว่า 300 แห่ง

นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคนมาอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของสังคมชุมชน และประเทศ จึงได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ระยะที่ 1 จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงเดินหน้าเข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 โดยเปิดโอกาสให้พนักงานในกลุ่มบริษัท รวมไปถึงคณาจารย์สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคม ของซีพี ออลล์ เข้าไปทำหน้าที่ผู้นำรุ่นใหม่กว่า 80 คน เพื่อนำองค์ความรู้ ความสามารถไปต่อยอดสร้างสรรค์ก่อให้เกิดประโยชน์แก่โรงเรียนประชารัฐกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ

"ซีพี ออลล์ มีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้เรามีบุคลากรและเครือข่ายที่มีความรู้ ความเข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ จึงสามารถส่งผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เข้าไปช่วยโรงเรียนในการเป็นเพื่อนคู่คิดวางแผนพัฒนาเสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ มีทักษะการใช้ชีวิตอย่างรอบด้าน ซึ่งโครงการในระยะที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี" นายธานินทร์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้นำรุ่นใหม่ทุกคนล้วนผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงร่วมกับผู้บริหารและครูอย่างเข้มข้น จึงเชื่อมั่นว่า ผู้นำรุ่นใหม่จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โครงการให้ประสบความสำเร็จได้

นายวินัย สมเด็จ ผู้จัดการเขต RNC 12 (จ.เชียงราย) บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะ School Partners รุ่นที่ 1 กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ดีใจมากที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาการศึกษาของไทย ที่ผ่านมาได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานมาประยุกต์ใช้ และพยายามพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ดูและฟังข่าวสารทุกๆวัน พยายามปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับคนเก่งๆ อย่างผู้อำนวยการและคุณครูในโรงเรียนที่รับผิดชอบได้

"สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกับคนเก่ง คือการเข้าไปนั่งอยู่ในใจของเขา ทำให้เขาไว้วางใจให้ได้ ตัวเราจึงต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้พร้อมมากที่สุด จากนั้นก็ลงไปร่วมทำงาน ปรึกษา ติดตามงานกับผู้อำนวยการและคุณครูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เหมาะสมกับโรงเรียนนั้นๆ" วินัย เล่า

ทั้งนี้ วินัยได้ดูแลโรงเรียนทั้งหมด 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน จ.เชียงราย โรงเรียนชุมชนบ้านสบเปา จ.เชียงราย และโรงเรียนบ้านถ้ำพระเล จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ที่เขาทำงานอยู่แล้ว หลังจากที่ได้เห็นผู้อำนวยการครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชน ร่วมกันทำโครงการต่างๆ จนสำเร็จ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาให้กับพื้นที่แล้ว เขาคาดหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สร้างเด็กดีและเก่ง รวมถึงการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

อีกหนึ่งตัวแทน School Partners รุ่นที่ 2 นางสาวปัทมา มีศรี ผู้ช่วยผู้จัดการเขตพื้นที่ RSN บมจ.ซีพี ออลล์ เผยว่า เคยร่วมกิจกรรมจิตอาสาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเห็นว่าน้องๆ ในโรงเรียนบางแห่งได้รับโอกาสไม่เท่าเทียมกันประกอบกับได้เห็นพี่ ๆ School Partners รุ่นที่ 1 นำประสบการณ์ความสุขและความภาคภูมิใจจากการเข้าร่วมโครงการมาบอกเล่า จึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็น School Partners ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่เธอทำงานและได้คลุกคลีอยู่แล้ว

แม้โครงการระยะที่ 2 จะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่เธอมีโอกาสได้ลงพื้นที่สำรวจเพื่อเก็บข้อมูลของโรงเรียนมาตั้งแต่เริ่มโครงการแล้ว เพื่อให้ทราบว่าโรงเรียนที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาเป็นแบบไหน บุคลากรเป็นอย่างไร มีจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ จุดเด่น ศักยภาพ ของเด็กๆ คุณครู ชุมชน และสังคมนั้นๆ เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาได้อย่างถูกจุด

"จากประสบการณ์การทำงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ คือ เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการบริหารคน จึงสามารถใช้ความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้กับโรงเรียนที่เราลงพื้นที่ เพราะสิ่งแรกที่จะเจอคือบุคลากรในโรงเรียนซึ่งแต่ละคนมีวุฒิภาวะสูงกว่า ถ้าอยากให้พวกเขาเหล่านี้เชื่อถือ เราต้องมีความรู้และความเข้าใจพอสมควร แล้วหวังว่าโรงเรียนจะนำสิ่งที่เราร่วมกันคิดไปเป็นโมเดลในการพัฒนาโรงเรียน หวังว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กๆ ในพื้นที่นั้น จะมีอาชีพทำมาหากินจากโปรเจ็กต์ของเราและโรงเรียน ซึ่งเป็นความคาดหวังของทุกคนในโครงการที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และให้มองว่าทุกคนคือคนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ" ปัทมา ย้ำ

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในระยะที่ 1 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่เกียรติยศเพื่อแสดงความขอบคุณแก่นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ในฐานะภาคเอกชน ผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ในงานประกาศความร่วมมือ การสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษา ก่อนเริ่มดำเนินโครงการในระยะที่ 2 อีกด้วย

HTML::image( HTML::image(