"น้องบูม" นายสุกฤษฎิ์ ประสานเกลียว ศิษย์เก่าจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (TEPE) สาขาวิศวกรรมเครื่องกล เปิดใจว่า ในอดีตเขาเป็นเพียงนักเรียนธรรมดาที่สอบได้ในระดับกลางๆ แต่เมื่อเห็นเพื่อนๆได้ไปเรียนต่อ ม.ปลายในโรงเรียนดีๆ ก็ทำให้เขารู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับไปตั้งใจเรียน โดยปรับพฤติกรรมหลังเลิกเรียน จากการเล่นเกมเป็นการอ่านหนังสือเป็นกิจวัตร และให้กำลังใจตนเองเสมอว่า ไม่มีความตั้งใจใดที่สายเกินไป และจากจุดนั้นเอง ความตั้งใจและความมุ่งมั่น ก็ได้พลิกชีวิต เพราะนอกจากจะได้รับทุนการศึกษาจาก TEP-TEPE ตลอดการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ยังสามารถทำคะแนนได้ในระดับดีมาก เรียกว่าเป็น "ตัวทอป" ของทุกคลาส ทุกวิชา จนคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.99 และรับการเสนอชื่อให้ได้รับทุนการศึกษาจาก มูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย KU Leuven สาขา Electromechanical Engineering Technology ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยของยุโรป
"เฒ่าแก่เงินล้าน" อาจไม่ใช่คำที่ใช้เรียกผู้ประกอบการรุ่นเก๋าอีกต่อไป เพราะนี่คือ ไทยแลนด์ 4.0 ที่อายุไม่ได้เป็นสิ่งวัดความสำเร็จจากการทำธุรกิจอีกต่อไป ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นการนำศาสตร์ด้านวิศวกรรม ไปประยุกต์กับองค์ความรู้ในแขนงอื่นๆ และต่อยอดสู่ "โมเดลนวัตกรรมทางเลือกใหม่" คลอดเป็นธุรกิจพันธุ์ใหม่ ที่สามารถทำรายได้มหาศาล "มากกว่าการเป็นวิศวกร"
"น้องนัท" นายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ทั้งปริญญาตรีและโท เผยเคล็ดลับความสำเร็จของเศรษฐียุค 4.0 ว่า ปัจจุบันการสร้างนวัตกรรมให้ถูกใจผู้บริโภคยุคใหม่ ต้องเข้าใจ "ไลฟ์สไตล์" ให้มากที่สุด ซึ่งนวัตกรรมด้านสุขภาพ ยังเป็นเทรนด์ที่มาแรง จึงสร้างโปรเจคการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้พื้นที่ของ CED-Square Center ซึ่งเป็นห้องแล็บที่เปิดโอกาสให้นักศึกษานำความรู้จากห้องเรียน มาออกแบบพัฒนานวัตกรรม ซึ่งผลงานชิ้นแรกคือ "เตียงตะแคงตัวระบบไฟฟ้า" ได้รับรางวัล Peer's Choice Awards จากเวที i-CREATe 2015 ประเทศสิงคโปร์
จากต้นแบบในห้องแล็บ สู่ "นวัตกรรมทำเงิน" น้องนัทยังคงตั้งเป้ากับการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ และได้รวมกลุ่มกับเพื่อนอีก 3 คน ออกแบบและพัฒนาจนได้ "อุปกรณ์ช่วยเดินแบบมีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน" หรือ Space Walker ที่รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ "ITCi Award" และรางวัลเหรียญทอง ประเภทสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จากเวที i-CREATe 2017 ประเทศญี่ปุ่น และนี่คือจุดเริ่มต้นของ "นวัตกรรุ่นใหม่" ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการนำผลงาน Space Walker ไปออกบูธตามงานต่างๆ ทำให้มียอดสั่งซื้อแล้วมากกว่า 20 ชิ้น จึงริเริ่มตั้งบริษัท Medicubed กลายเป็นธุรกิจเงินล้านได้ในที่สุด โดยแบ่งกำไรที่ได้จากการจำหน่าย 30% กลับเข้า CED-Square Center เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมในอนาคต
"น้องฟิน" นางสาวชนัญญา เลิศประเสริฐกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ไปเรียนรู้ชีวิตในแดนไกล เป็นเพียงความฝัน แต่เมื่อทางคณะฯ เปิดรับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่สนใจฝึกงานในต่างประเทศ ความฝันที่เคยวาดไว้ตลอด กระตุ้นให้เกิดความอยาก ทำลายกำแพง "Safe Zone" และคิดว่าคงน่าเสียดายถ้าไม่รีบคว้าโอกาสนี้ไว้ โดยเลือกไป Waterford Institute of Technology (WIT) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่โด่งดังด้านเทคโนโลยีและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไอร์แลนด์
โดยวันแรกที่ไปถึง ต้องทึ่งกับการเปิดโอกาสของสถาบันนี้ ที่ให้ได้ร่วมกำหนดโจทย์วิจัยเรื่องการพัฒนาขึ้นรูปแบบพลาสติก หรือ โพลิเมอร์ ร่วมกับเด็กฝึกงานในรุ่นเดียวกันอีก 4 คน ซึ่งเป็นการลงมือทำจริง ไม่ใช่การสังเกตการณ์เหมือนเด็กฝึกงานทั่วไปเท่านั้น หลังจากนั้นก็ให้จับคู่กับเพื่อนอีกคน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมน้ำของ Hydrogels ซึ่งพบว่าที่ไอร์แลนด์มีดินชนิดหนึ่งมีคุณสมบัติคล้ายไฮโดรเจน โดยวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการดูดซึมของดินชนิดนี้ ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าไฮโดรเจลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 8 สัปดาห์กับการเป็นเด็กฝึกงานที่ไอร์แลนด์ ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการด้านวิศวกรรมเคมีรูปแบบใหม่ๆ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้คน สร้างมิตรภาพกับเพื่อนร่วมงาน และยังได้เปิดประสบการณ์กับสถานที่แปลกใหม่ เหมือนได้ไปท่องเที่ยวในตัว
สิ่งเหล่านี้คือ สีสันที่เกิดขึ้นจริงในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยความฝัน แรงบันดาลใจ และความมีชีวิตชีวาของกลุ่มคนเลือดใหม่ ที่เราเชื่อว่าจะสามารถฝากความหวังและอนาคตไว้กับคนกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับน้องๆ รุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางที่ตนเองเลือก ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เตรียมหลักสูตรต่างๆ ตามความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่เป็น "มากกว่าวิศวกร" และพร้อมจะปลุกไฟให้น้องๆ มาร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตไปด้วยกัน โดยวางเป้าหมายของการผลิตบัณฑิตศักยภาพสูง ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างรอบด้าน ให้สมกับการเป็นคนรุ่นใหม่ เรียนไปแล้วไม่ตกเทรนด์
อย่างไรก็ตามเร็วๆ นี้ คณะฯ กำหนดเปิดตัวการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่จะพลิกโฉมหลักสูตรวิศวกรรมในประเทศไทยให้สอดรับกับความต้องการของโลกอย่างแท้จริง
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th/ และ Facebook fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit