ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยกำกับดูแลรวมทั้งส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง โปร่งใส น่าเชื่อถือ และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วนและเป็นธรรมจากการประกันภัย ได้ดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมการ คปภ. ภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 โดยได้มีนโยบายมุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มบทบาทให้ระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนอย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐด้านสวัสดิสงเคราะห์แล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางสังคม ตลอดจนส่งเสริมระบบเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความหลากหลาย สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงและตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีการวางแผนออมที่ดี รองรับความเสี่ยงทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หรือรายจ่ายเมื่อยามสูงอายุ โดยได้ผลักดันมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจให้เกิดการทำประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ การประกันชีวิต การประกันสุขภาพ การประกันชีวิตแบบบำนาญ และการประกันสุขภาพให้กับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของคู่สมรสให้สามารถนำเบี้ยประกันภัยดังกล่าวใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายภาษีอากร จึงได้มีคำสั่งนายทะเบียนให้แก้ไขเพิ่มเติมแบบและข้อความใบคำขอเอาประกันภัย โดยเพิ่มเติมคำถามเกี่ยวกับการขอเอาประกันภัยเพื่อใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายภาษีอากร และการให้ความยินยอมในการส่งและเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ โดยไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานการชำระเบี้ยประกันภัยประกอบการขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
"การสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ ถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงาน คปภ. และกรมสรรพากร ภาคธุรกิจประกันภัย คือ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย และประชาชนผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยตั้งแต่ปีภาษี 2561 เป็นต้นไปประชาชนที่ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ จะไม่ต้องใช้เอกสารหลักฐานการชำระเบี้ยประกันภัยประกอบการขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้นี้ สำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมสรรพากรในการนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลของบุคคลที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาการให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อนในการข้อมูล เช่น ข้อมูลของบุคคลใดที่เคยให้ข้อมูลกับหน่วยงานหนึ่งแล้ว เมื่อติดต่อกับอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องขอข้อมูลซ้ำอีก หากต้องการใช้ข้อมูลก็เพียงแต่ยืนยันตัวตน และร้องขอใช้ข้อมูลของตัวเองด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทั้ง Blockchain / Digital ID ซึ่งก็จะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันมีความปลอดภัยและรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลได้ และอีกหนึ่งมาตรการสำคัญของสำนักงาน คปภ. ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในยุคดิจิทัลนี้ คือการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย โดยมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธาน ซึ่งจะทำให้แนวทางการบริหารจัดการระบบมีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ของสำนักงาน คปภ. โดยครอบคลุมทั้งกระบวนการจัดส่งข้อมูล การตรวจทานแก้ไขความถูกต้องของข้อมูล การจัดทำรายงานข้อมูลเพื่อเผยแพร่ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลประกันภัยของตนเอง" เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย