นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา- โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกซึ่งใช้ขวดพลาสติก PET เป็นจำนวนมาก บริษัทฯ มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้ โดยหนึ่งในพันธกิจตามวิสัยทัศน์ "World Without Waste" ซึ่งทางบริษัทแม่ประกาศเมื่อต้นปีนั้น บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ซึ่งผลิตจากวัสดุ รีไซเคิลในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งทำให้บริษัทฯ ต้องเริ่มทำงานทั้งการวางแผนการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์อย่างอินโดรามา เวนเจอร์ส การนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาครัฐ และการเชิญชวนเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมผ่านทางสมาคมฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
"สำหรับเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างรับผิดชอบนั้น บริษัทฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด อย่างอีกเป้าหมายหนึ่งที่บริษัทแม่กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ของเราต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 นั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการสำเร็จแล้วในปัจจุบัน หรืออย่างเรื่องการพยายามลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ เราก็มีทั้งผลิตภัณฑ์ขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาล้างทำความสะอาดและใช้บรรจุเครื่องดื่มใหม่ได้ หรืออย่างน้ำดื่ม "น้ำทิพย์" เราก็ลงทุนมหาศาลในการติดตั้งเครื่องจักรที่ทันสมัยจนทำให้สามารถใช้ขวด PET ชนิดพิเศษซึ่งลดปริมาณพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์แบบเดิมลงได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่ปี 2555 และพร้อมกับการปรับเปลี่ยนครั้งนั้น บริษัทก็เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดไปพร้อมกันด้วย ก่อนที่จะเริ่มมีการรณรงค์กันเสียอีก" นายนันทิวัตกล่าว
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ระบุว่า "ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก" โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าว บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยจึงต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มร.ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร ความยั่งยืน และทรัพยากรบุคคล บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "อินโดรามา เวนเจอร์ส มีเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติกจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัยและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป บริษัทฯ ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาคัดแยกก่อน เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออก ต่อด้วยการชำระล้างทำความสะอาดขวดพลาสติกในอุณหภูมิที่สูงอีกหลายขั้นตอน กำจัดเชื้อโรคและขจัดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายออกระหว่างทาง ก่อนที่จะใช้ความร้อนสูงถึง 285 องศาเซลเซียสเพื่อนำเกล็ดพลาสติกที่ถูกสับละเอียดไปหลอมต่อ เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงสุด ทำให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงาน rPET ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีการส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตขวดไปจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ และออสเตรเลีย"
ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือเกือบ 1 แสนตันต้องถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็เล็ดรอดออกสู่ทะเลกลายเป็นขยะทางทะเล ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างในระดับโลก ขณะที่หลายประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงหันมาส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ให้การยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร แสดงให้เห็นว่า เม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มาตรฐานและปลอดภัยที่จะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร โดยเยอรมนีเป็นประเทศ ที่มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรปถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศ ที่มีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดถึง 83 เปอร์เซ็นต์
"ในฐานะผู้ผลิตพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดของโลก บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และขอยืนยันว่าพลาสติก PET ไม่ใช่ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่สิ้นสุดในหลายรูปแบบ หากนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มด้วย ยิ่งมีการนำพลาสติก PET กลับมาใช้ใหม่ได้มากเพียงใด ก็จะทำให้ความต้องการพลาสติกผลิตใหม่ลดลงมากตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ของบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลด้วยการสร้างรายได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และผลักดันให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลที่มีบทบาทสำคัญในการคัดแยกพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย" มร.ริชาร์ด เสริม