การสอบถามข้อมูลบนอินทอร์เน็ตที่ใช้งาน DNSSEC ต้องใช้ root zone KSKในการตรวจสอบความถูกต้องของจุดหมายปลายทางที่จะไป การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อ ICANN มีการเปลี่ยน root zone KSK แล้ว ผู้ดูแลระบบหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Providerหรือ ISP) จำเป็นต้องนำ KSK นั้นมาปรับปรุงระบบของตน เพื่อทำให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบที่อยู่เว็บไซต์ได้อย่างถูกต้อง
นายภาคภูมิ ไตรพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านเทคนิคของมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC) กล่าวว่า "ความนิยมใช้บริการอินเทอร์เน็ตในทุกสังคมทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นและกลายเป็นความจำเป็นที่เราไม่อาจปฏิเสธประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตได้เลย ทั้งนี้การดูแลความปลอดภัยที่จะทำให้มั่นใจว่าการเข้าถึงเว็บไซต์ปลายทางของผู้ใช้งานเป็นการเข้าถึงที่ถูกต้อง มิได้ถูกบิดเบือนระหว่างทางซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลจากแหล่งที่ไม่ถูกต้องและมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังความเสี่ยงด้านการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงผลกระทบทางด้านธุรกิจอีกด้วย ซึ่ง DNSSEC เป็นมาตรการหนึ่งที่มาช่วยปิดช่องโหว่ลักษณะดังกล่าว ทีเอชนิคจึงถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และดำเนินการเข้ารหัส DNSSEC โดเมนในส่วนที่ทีเอชนิคเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ทั้ง .TH และ .ไทย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานจะได้รับความปลอดภัยในการใช้งานระบบ DNS อนึ่ง การเข้ารหัส DNSSEC จะต้องมีการเปลี่ยนรหัส หรือที่เรียกว่า KSK เมื่อมีการใช้งานไปช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงที่รหัสจะโดนเจาะโดยผู้ไม่ประสงค์ดี"
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ดูแลระบบ DNS ขององค์กรต่าง ๆ ปรับระบบให้ไปอ้างอิง root KSK ชุดใหม่ ก่อนที่จะมีการเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ตุลาคม 2561 นี้ สามารถศึกษาแนวทางปฎิบัติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง root zone KSK ใหม่ได้ที่ https://www.thnic.co.th/th/dnssec/ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบและบริการด้วยการเข้าหรัส DNSSEC เพื่อปกป้องผู้ใช้งานของท่านจากการได้ข้อมูลผิดพลาดและการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์
เกี่ยวกับมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (Thai Network Information Center Foundation) หรือ ทีเอชนิค เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการใช้งานโดเมน ".TH" และ ".ไทย" สนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทั้งยังผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไทย ในด้านเทคโนโลยี ความรู้ ความเร็วในการสื่อสารและด้านการลดต้นทุนในการติดตั้งและใช้งานอินเทอร์เน็ต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit