การที่จะสร้าง Career Path ให้กับตัวเอง ก่อนอื่น ให้เริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับตัวเองในเป้าหมายอาชีพการงานก่อน ว่าหลังจากนี้อีกห้าปี เราอยากเห็นตัวเองเป็นแบบไหน และอีกสิบปีจากนี้ เราจะอยู่ตรงไหนขององค์กร ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เป็นพนักงานการตลาด อีกห้าปีจะเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด และอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เมื่อได้คำตอบให้กับตัวเอง ถัดมา ให้มาดูพื้นฐานด้านการศึกษาของตัวเองว่าเรียนมาในสาขานั้นๆหรือไม่ จากตัวอย่างข้างต้น ด้านการตลาดก็ควรจะต้องจบสาขาการตลาด แต่ถ้าเรียนมาสาขาอื่น ซึ่งไม่ตรงกับสายงานที่ทำ เช่น เรียนจบด้านมนุษยศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ แต่ได้เริ่มงานด้านการตลาดในองค์กรหนึ่ง และได้ถามตัวเองแล้วอยากเติบโตในสายงานด้านนี้ แต่วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับงานที่ทำ เพราะฉะนั้น ให้หาโอกาสในการเรียนเพิ่มเติมด้านการตลาด อาจจะเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาด ลงเรียนโปรแกรมพิเศษด้านการตลาด เข้าฝึกอบรมด้านการตลาดอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น เพื่อสร้างความได้เปรียบและปิดช่องว่างของความรู้พื้นฐานการตลาด หลังจากนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทักษะและความเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ซึ่งมาจากประสบการณ์การทำงานและความสำเร็จของงานที่ทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ได้รับการยอมรับและสามารถพัฒนาสู่ความก้าวหน้าในสายวิชาชีพนั้นๆได้ดีที่สุด เมื่อคุณเป็นพนักงานการตลาด คุณก็ต้องแสดงศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับ เช่น จัดทำแผนการตลาด และเมื่อแสดงออกไปเป็นที่ยอมรับของภายในและนอกองค์กร สามารถวัดผลได้และมีผลตอบรับที่ดี ทำให้ภาพลักษณ์หรือสินค้าขององกรค์เป็นที่รู้จัก มียอดขายเพิ่มขึ้น เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นถึงความสำเร็จ คุณก็จะเป็นบุคคลที่โดดเด่น เพราะฉะนั้น ต้องพยายามสร้างความโดดเด่นในงานที่ทำ พร้อมกับแสดงความเป็นผู้นำและการเป็นผู้ตามที่ดีรวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อนำมาปรับปรุงให้งานที่ทำดีขึ้น อีกทั้ง หาโอกาสแสดงความสามารถ สร้างความประทับใจให้กับเพื่อนร่วมงาน เมื่อผลงานโดดเด่นและมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ดี ก็จะมีโอกาสพิจารณาเลื่อนขั้น เนื่องจากคุณสามารถพิสูจน์ให้องค์กรเห็นคุณค่า สร้างการยอมรับ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานความรู้ ทักษะความสามารถและความเชี่ยวชาญ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง Career Path ให้ตัวเอง และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การย้ายงานหรือระยะเวลาในการทำงานแต่ละที่แต่ละตำแหน่งต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ทำงานด้านการตลาดหนึ่งปีหลังจากนั้นไปทำด้านจัดซื้อสองปี และไปทำด้านบุคคลอีกหนึ่งปี การทำงานลักษณะนี้มีความหลากหลายในวิชาชีพ แต่ไม่มีความก้าวหน้าเพราะระยะเวลาในการทำงานน้อย และไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความรู้เชิงลึกหรือประสบการณ์ในด้านนั้นๆจะน้อย อาจทำให้เสียโอกาสในความก้าวหน้าในบางตำแหน่งงานที่ต้องการผู้มีความรู้ความสามารถเชิงลึกในงานนั้นๆ การสร้างความก้าวหน้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ควรมีการกำหนดเป้าหมาย ออกแบบและแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแต่ละตำแหน่ง ทั้งนี้ การกำหนดเส้นทางอาชีพสู่การเติบโตจะทำให้คุณก้าวต่อไปด้วยความมั่นใจ…เป็นมนุษย์เงินเดือนในแบบที่คุณสามารถออกแบบความสำเร็จได้ด้วยตัวคุณเองต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit