นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร กรรมการมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติซึ่งได้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งจักรยานกู้ชีพ ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดตั้งกลุ่มให้เราฟังว่า "กลุ่มจักรยานกู้ชีพ เป็นการรวมตัวของจิตอาสาจากหลายๆภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครจากทีมพาราเมดิค จากพยาบาล จากนักเวชกิจฉุกเฉิน จากแพทย์ หรือจากประชาชนทั่วไปที่มีความรู้เรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ที่มีใจรักในการปั่นจักรยาน ซึ่งได้มีแนวความคิดแบบนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 จนปัจจุบันนี้เรามีผู้สนใจมาร่วมงานที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนต่างๆ แล้วเกือบ 100 คนแล้ว โดยหน้าที่หลักๆของพวกเราก็คือคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินให้กับประชาชนที่เข้าร่วมในงานวิ่ง งานปั่นจักรยานหรืองานกีฬาที่มีคนดูมากๆ ทีมของเราก็จะเข้าไปปะปนเพื่อดูแลฝูงชนเหล่านั้น และเมื่อเกิดเหตุแบบเฉียบพลัน เราก็จะสามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว และช่วยในการทำ CPRพร้อมกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติหรือ AED ในการกู้ชีพระหว่างรอทีมแพทย์จากสายด่วน 1669 หรือรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือต่อไป"
สำหรับอุปกรณ์ของทีมจักรยานกู้ชีพหรือ AED Bike จะประกอบไปด้วยรถจักรยานที่นำมาดัดแปลงติดตั้งกระเป๋าใส่อุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมทั้งมีเครื่อง AED แบบประเป๋าหิ้วติดอยู่ในรถของทีมเกือบทุกคนด้วย โดยในแต่ละทีมของจักรยานกู้ชีพจะทำงานในลักษณะที่มีคู่หูบัดดี้และจะช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเบื้องต้น (First Responder) โดยเฉพาะในเรื่องการปฐมพยาบาลการกู้ชีพพื้นฐาน ไปจนถึงการใช้เครื่อง AED โดยจะดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้พ้นระยะวิกฤตไปก่อนในระยะเวลา 4 นาที ก่อนที่ทีมแพทย์ประจำงานหรือจากสายด่วน 1669 จะเข้ามาให้การช่วยเหลือ
"หลักเบื้องต้นที่ทีมเราใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยก็คือ ขั้นตอนห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต(chain of survival) ซึ่งประกอบไปด้วย การแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ การทำ CPR การใช้เครื่อง AED การจัดส่งรถพยาบาลมารับผู้ป่วย และการนำผู้ป่วยส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย โดยเมื่อเราพบเหตุทีมเราจะรีบทำการแจ้งรถพยาบาลที่ประจำการในงานหรือแจ้งเหตุ ไปที่สายด่วน 1669 พร้อมประเมินอาการผู้ป่วยและหากพบผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ก็เริ่มทำการ ปั๊มหัวใจหรือ CPRและหากมีข้อบ่งชี้ ให้ใช้เครื่อง AED เราก็จะนำเครื่อง AED มาใช้ควบคู่กันการทำ CPR ไปด้วยจนกว่ารถพยาบาลหรือทีมแพทย์จะมาถึง" ผู้ก่อตั้งกลุ่มจักรยานกู้ชีพระบุ
ด้านนพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวถึงการรวมตัวกันของทีมจักรยานกู้ชีพว่า"สพฉ.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้กับทีมจักรยานกู้ชีพไมว่าจะเป็นในส่วนของการสนับสนุนในเครื่อง AED หรือการช่วยจัดอบรมให้กับทีมจิตอาสาในเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งการทำงานของทีมจักรยานกู้ชีพนั้นเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างมากเพราะทุกท่านในทีมนี้ต่างเสียสละภารกิจส่วนตัวเพื่อมาทำงานในการช่วยเหลือชีวิตคนโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งนี้เราจะเห็นว่าในงานออกกำลังกายจะมีผู้ป่วยที่ไม่ทราบอาการของตนเองแล้วเกิดภาวะหัวใจวายหรือหัวใจหยุดเต้นภายในงานบ่อยครั้ง การทำงานของทีมจักรยานกู้ชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปอุดรูโหว่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวในงานออกกำลังกายต่าง ๆได้ ซึ่งหากเราใช้เครื่อง AED ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยสลับกับการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานหรือ CPR ก่อนที่ทีมแพทย์จะเดินทางเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากเดิมถ้าเราเริ่มต้นช่วยผู้ป่วยแล้วรอเจ้าหน้าที่กู้ชีพมารับเพียงอย่างเดียวโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยก็จะมีเพียงแค่ 27 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้เครื่อง AED มาช่วยด้วยโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยก็จะมากขึ้นไปด้วย จึงขอชื่นชมการทำงานของทีมจักรยานกู้ชีพมากและสพฉ.ก็พร้อมที่จะช่วยในการสนับสนุนทุกอย่างของทีมด้วย"
ที่ผ่านมาทีมงานจักรยานกู้ชีพได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเตรียมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในหลายงานแล้วไม่ว่าจะเป็นงานปั่นจักรยานเทิดพระเกียรติ Bike for Dad และ Bike for Mom งานวิ่งสุราษฎร์ธานีมาราธอน งานวิ่งกรุงเทพมาราธอน งานวิ่งจอมบึงมาราธอน และหากใครต้องการติดตามการทำงานของทีมจักรยานกู้ชีพก็สามารถติดตามได้ที่เพจเฟสบุ๊ค "AED BIKE Thailand"
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit