นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันคล้าย วันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 46 ปี รัฐบาลมีความต้องการพัฒนาให้สหกรณ์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเป็นกลไกพัฒนาภาคการเกษตรไทย พร้อมสนับสนุนให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งและ มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสหกรณ์ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ สนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด ยึดหลักการตลาดนำการผลิต และแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างโอกาสในการแข่งขันสินค้าภาคการเกษตร
สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมกันเกือบ 8,100 แห่ง มีทุนดำเนินงานรวมกันกว่า 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 17% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ในปีงบประมาณ 2562 ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาบทบาทอำนาจหน้าที่ของสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ว่าในปัจจุบันสหกรณ์ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และดูถึงโครงสร้างกฎหมายสหกรณ์ฉบับเดิมยังมีจุดอ่อนในเรื่องใดให้นำมาปรับปรุงและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนจะร่างกฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่มาถือใช้ ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องเร่งพัฒนากรรมการให้รู้บทบาทอำนาจหน้าที่ และแบ่งกลุ่มสหกรณ์เพื่อจัดหลักสูตรอบรมเพิ่มประสิทธิภาพใน การบริหารงานสหกรณ์ให้เหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละสหกรณ์
นอกจากนี้ยังมีแผนในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์การเกษตรกว่า 4,000 แห่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันของเกษตรกร และช่วยปกป้องดูแลผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคงและสามารถยืนหยัดในอาชีพการเกษตรได้ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายในการปรับระบบการบริหารจัดการภาคการเกษตร โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการ ซึ่งจะต้องสำรวจข้อมูลว่าตลาดมีความต้องการปริมาณเท่าใดและราคาที่รับซื้ออยู่ที่เท่าไหร่ เบื้องต้นได้นำร่องโครงการส่งเสริมปลูกพืชหลังฤดูทำนา เพื่อลดการปลูกข้าวรอบ 2 และให้หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ 2,000,000 ไร่ ในพื้นที่เขตชลประทาน โดยให้เกษตรกรรวมกันปลูกในแบบแปลงใหญ่เพื่อง่ายในการบริหารจัดการพื้นที่และผลผลิต พร้อมทั้งให้สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เจรจากับภาคเอกชนว่าต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ใด ปริมาณเท่าไหร่และราคารับซื้อกิโลกรัมละเท่าไหร่ และขอความร่วมมือให้บริษัทเอกชนที่จะรับซื้อผลผลิตส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องในการเพาะปลูกข้าวโพดให้กับเกษตรกร จากนั้นสหกรณ์ต้องประสานหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาดูแลเริ่มตั้งแต่พื้นที่ปลูก สภาพดิน น้ำ การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวและรวบรวมผลผลิต สหกรณ์การเกษตรจะรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต การจ้างเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดลง และสหกรณ์การเกษตรจะมีบทบาทในการสร้างโอกาสการแข่งขันและเป็นตัวกลางในการเจรจาต่อรองกับเอกชน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องร่วมกันดูแลสหกรณ์และเอกชนที่เป็นคู่ค้าให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. 2560
"ขณะนี้มีสหกรณ์การเกษตรบางแห่งสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจการเกษตรให้กับสมาชิก หรือ Bussiness Unit ซึ่งในอนาคตจะผลักดันให้สหกรณ์เหล่านี้มีบทบาทในการเจรจาต่อรองการซื้อการขายผลผลิตการเกษตรที่สำคัญกับเอกชน และให้สหกรณ์การเกษตรส่งเสริมเกษตรกรหันมาปลูกพืชหลังนา ทั้งข้าวโพด พืชผักหรือพืชตระกูลถั่ว และเจรจากับเอกชนเข้ามารับซื้อ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบงบประมาณของกรมฯ หรืองบพัฒนาจังหวัดและส่วนราชการอื่นที่อุดหนุนให้สหกรณ์การเกษตรจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์ในการแปรรูปผลผลิตการเกษตร โดยให้ไปสำรวจว่าแต่ละสหกรณ์มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือประเภทใดบ้าง ให้รวบรวมจัดทำเป็นรายการไว้และดูว่ามีการใช้ประโยชน์หรือไม่ หากบางแห่งไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ให้ติดต่อเอกชนไปใช้เครื่องจักรกลและเครื่องมือนั้นแล้วจ่ายค่าเช่าให้สหกรณ์ หรือเปิดให้บริการแก่เกษตรกในพื้นที่ได้มาใช้ประโยชน์อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงโรงอบและห้องเย็นเพื่อช่วยเก็บรักษาผลผลิต ของเกษตรกร และใช้ประโยชน์อุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐให้คุ้มค่า และยังช่วยสร้างรายได้กลับเข้ามายังสหกรณ์ด้วย" รัฐมมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit