นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 2 จังหวัด 3 อำเภอ 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 17 หลัง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม รวม 2 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 6 หลัง และชัยนาท เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสรรพยา และอำเภอเมืองชัยนาท รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย เพื่อให้ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 5 – 7 เมษายน 2561 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อน ในลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในวันถัดไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 5 - 7 เมษายน 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป