หลังจากที่แคมเปญสื่อสารระดับภูมิภาค "From Educate to Inspire" เปิดตัวด้วยภาพยนตร์โฆษณาที่ถ่ายทอดเรื่องราวการค้นพบของเด็กๆ กระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของห้องเรียนกับการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการตั้งคำถามและคิดแก้ปัญหาต่อยอดจินตนาการ ล่าสุด ซัมซุงยังได้รับเกียรติจากแนวร่วม 4 คนดังและผู้เชี่ยวชาญจากวงการวิชาการและเทคโนโลยี เปิดประเด็นสำคัญระดับประเทศเรื่องการศึกษาแห่งศตวรรษใหม่ โดยแต่ละท่านให้มุมมองที่สอดคล้องกันในเรื่องความสำคัญของทักษะแห่งอนาคต และแนวคิดของ "ห้องเรียนต้นแบบ" ที่เด็กไทยควรมี
การเรียนแบบมีแรงบันดาลใจและเชื่อมต่อความรู้หลายแขนง
เจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อดีตนางสาวไทยและนักแสดงอาชีพ เห็นว่าการศึกษาไม่ควรวัดผลความรู้เพียงจากตำรา แต่ต้องกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม และออกไปค้นหาคำตอบ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบแรงผลักดันจากภายในที่จะพาเด็กๆ ให้เดินตามความฝันของพวกเขา "สมัยมัธยม เราเรียนมาแบบเน้นการท่องจำเพื่อเอาไปสอบวัดผล จนกระทั่งวันหนึ่งที่เจ๊ยบรู้เป้าหมายของตัวเองว่าอยากเป็นหมอเพื่อจะได้ช่วยเหลือคน จึงทุ่มเทพยายามจนสอบเข้าเรียนได้ และได้ค้นพบว่าการเรียนหมอ ทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนแบบเดิมๆ โดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถพึ่งความรู้จากแค่ในตำราเท่านั้น การจะเข้าใจศาสตร์แขนงนี้อย่างลึกซึ้ง ต้องลงมือทำ ออกไปทำวิจัย ศึกษาจากเคสคนไข้จริง ซึ่งเจี๊ยบมองว่าเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริง และความรู้นั้นจะอยู่ติดตัวเราไปตลอด ห้องเรียนยุคใหม่ของเจี๊ยบต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียนรู้ให้ได้ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิด ตั้งคำถาม และออกไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบยั่งยืน"
นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา บัณฑิตสาขาวิศวกรรมศาสตร์ นักแสดงอาชีพ และเจ้าของกิจการออกแบบด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมให้ความเห็นถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่หลากหลาย และการประยุกต์และผสมผสานใช้ความรู้หลายสาขาให้เอื้อต่อกัน "นุ่นเป็นนักเรียนที่โตมากับการเรียนที่เน้นเก่งรายวิชา แต่ไม่เข้าใจว่าจะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ต่างๆ มาใช้เสริมซึ่งกันและกันอย่างไร ซึ่งเพิ่งได้มาเรียนรู้ตอนที่ได้ลงมือทำงานบริษัทของตัวเอง จึงพบว่าความสามารถเชิงวิชาการอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ เราต้องสามารถปรับใช้กระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ประยุกต์ความรู้ศาสตร์ต่างๆ ที่เรามีทั้งวิศวกรรม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้เชื่อมต่อกันและสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานที่เราต้องการได้"
"เด็กรุ่นใหม่โชคดีตรงที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้มากมาย ด้วยเทคโนโลยีเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ควรต้องฝึกฝนพัฒนาทักษะในการเชื่อมต่อความรู้ต่างๆ ที่มีเข้าด้วยกัน นุ่นคิดว่าจะทำให้เขาสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้มากที่สุดและเดินไปถึงเป้าหมายในอาชีพที่ตั้งไว้"
ความสำคัญของทักษะแห่งอนาคต
ดร. นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลงานระดับนานาชาติพร้อมกับรางวัลการันตีจำนวนมาก และอดีตนักเรียนทุนรัฐบาล ผู้มีผลการเรียนเป็นอันดับหนึ่งของวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปลูกฝังทักษะแห่งอนาคตว่า "ที่ผ่านมาการศึกษาบ้านเรายังเน้นให้ความสำคัญกับความสำเร็จทางวิชาการเฉพาะบุคคล เชิดชูเด็กเก่ง ตีตราเด็กที่ทำข้อสอบไม่ได้ว่าเป็นเด็กไม่เก่ง ทำให้เราเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ไปโดยไม่จำเป็น ต้องยอมรับว่าสมัยต่ายยังเป็นการเรียนแบบคุณครูป้อน และนักเรียนรับอย่างเดียว ทำให้เราต้องปรับตัวมากในตอนที่ได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เพราะสภาพแวดล้อมการเรียนที่โน่น จะสนับสนุนให้ถกเถียง สื่อสารความคิด ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาให้ได้ ต่ายจึงอยากเห็นห้องเรียนที่ออกแบบให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะเตรียมความพร้อมเด็กสู่ชีวิตและการทำงานจริง ซึ่งทักษะเหล่านี้คือ ทักษะการสื่อสาร เพื่อสามารถนำเสนอความคิดเห็นของตนเองและสื่อสารกับผู้อื่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม และฝึกให้มีกระบวนการคิดเพื่อหาคำตอบ ทักษะการทำงานร่วมกัน และทักษะการคิดสร้างสรรค์ นิยามของเด็กเก่งแห่งยุคนี้ คือเด็กที่ฉลาดในการใช้ทักษะเหล่านี้ ผนวกกับความสามารถในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นเพื่อช่วยให้เข้าถึงความรู้ต่างๆ ด้วยตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด"
ดร. การดี เลียวไพโรจน์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาธุรกิจด้านการระดมทุนผ่านเทคโนโลยี ผู้อยู่แถวหน้าของเทรนด์แห่งโลกธุรกรรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัล กล่าวถึงแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า "ห้องเรียนที่ไม่เปิดโอกาสให้ถามคำถามเพื่อค้นหาคำตอบที่ต่างไป จะหล่อหลอมให้เด็กมุ่งเป้าหาคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว ซึ่งไม่เพียงพอแล้วต่อการใช้ชีวิตในโลกแห่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไวแบบก้าวกระโดด"
"ด้วยหน้าที่การงานในปัจจุบัน ทำให้เราเข้าใจว่าภาคธุรกิจมองหาบุคคลากรที่มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงเป็นคำถามให้กลับมามองการศึกษาของเราว่าได้เตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานและสามารถแข่งขันระดับนานาชาติได้มากน้อยแค่ไหน ในความคิดของอ้อ การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ควรเป็นเพียงเรื่องการอ่านออกเขียนได้อีกต่อไป แต่ควรเน้นใช้กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ให้เด็กมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทักษะเรื่องการตั้งคำถาม การคิดวิเคราะห์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ STEM ที่ประยุกต์ใช้ความรู้จากหมวดต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี มาแก้ปัญหาได้จริงในการเรียน การทำงานและการดำเนินชีวิต ซึ่งสำคัญมาก"
ต้นแบบ"ห้องเรียนแห่งอนาคต" การตั้งคำถามที่นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่
แม้ในปัจจุบันจะมีรูปแบบของห้องเรียนที่ได้รับการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียน การสอนอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน หนึ่งในโครงการสำคัญที่เริ่มมาตั้งแต่ 2556 คือ โครงการ "Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต" ซึ่งมีจุดประสงค์ในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ ที่ช่วยสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม และนำเอาเทคโนโลยีอุปกรณ์ดิจิทัลจากซัมซุงมาเสริมในการเรียนการสอนแบบสหสาขาวิชา ในสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่เอื้อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อสื่อสารแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองค้นพบ และสร้างแรงบันดาลใจและประโยชน์ให้คนรอบข้างได้
ดร. นิศรากล่าวถึงโครงการ Samsung Smart Learning Center ไว้อย่างน่าสนใจว่า "ดีใจที่ได้เห็นภาคเอกชนมาลงมือพัฒนาเรื่องการศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากจะสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีที่เสริมให้การเรียนรู้สนุกแล้ว โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่จุดประกายความอยากรู้ อยากค้นหาคำตอบในตัวเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเรียนรู้ ไม่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น แต่นิสัยรักการเรียนรู้นี้จะทำให้เด็กนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ที่สำคัญ โครงการนี้ยังช่วยพัฒนาคุณครู ผู้เป็นแม่พิมพ์ในการสร้างอนาคตของชาติ ให้เข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่และสามารถถ่ายทอดให้กับเยาวชนแบบรุ่นต่อรุ่น เป็นการกระจายโอกาสอย่างถาวร ซึ่งต่ายมองว่าเมื่อเรารวมเอาเทคโนโลยีซึ่งเป็นหน้าต่างสู่ความเจริญทางมันสมอง กับการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตเข้าด้วยกันแล้วจะสามารถช่วยยกระดับ และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาบ้านเราได้อย่างเป็นรูปธรรม"
ปัจจุบันโครงการ Samsung Smart Learning Center มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 47 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนได้รับประโยชน์แล้วกว่า 100,000 คน โดยโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนจากซัมซุงในทุกด้านทั้งองค์ความรู้สำหรับพัฒนาครู บุคคลากร และเทคโนโลยีสำหรับพัฒนาห้องเรียนให้ทันสมัย โดยในปีนี้มีเป้าหมายที่จะขยายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอีก 3 โรงเรียน และจะมีการอบรมครูและนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
ติดตามแนวคิดดีๆเกี่ยวกับการศึกษาไทย และห้องเรียนแห่งอนาคตของแนวร่วมของโครงการ Samsung Smart Learning Center ทั้ง 4 ท่านได้ทาง www.facebook.com/samsungthailand
เกี่ยวกับ ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์
บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จุดประกายแรงบันดาลใจและสร้างวิถีแห่งอนาคตด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยบริษัทได้สร้างนิยามใหม่ให้กับโลกของโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน อุปกรณ์อัจฉริยะสวมใส่ได้ แท็บเล็ต กล้องถ่ายภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์การแพทย์ ระบบเครือข่าย สารกึ่งตัวนำและ LED โซลูชั่น สำหรับข่าวสารล่าสุด ท่านสามารถเยี่ยมชม Samsung Newsroom ได้ที่ news.samsung.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit