นายวีระ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางและมาตรการรณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีทั้งหมด 3 ด้านหลัก 11 แนวทาง ประกอบด้วย 1.รณรงค์จัดกิจกรรม"สงกรานต์วิถีไทย" ได้แก่ 1.1 ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ของท้องถิ่น 1.2 ขอความร่วมมือ จากประชาชนในการสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์วิถีไทย เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน วัด สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เล่นน้ำอย่างพองาม 1.3 รณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น หรือชุดไทยย้อนยุค เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ และ 1.4 ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชน ในการจัดกิจกรรม โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมและความเหมาะสม และร่วมกันเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ทางสายด่วนวัฒนธรรม 1765
2. รณรงค์ "ใช้น้ำคุ้มค่า" ได้แก่ 2.1 กำหนดพื้นที่ให้ประชาชนเล่นน้ำ เพื่อควบคุมการใช้น้ำ อย่างประหยัด คุ้มค่า ขอความร่วมมืองดใช้รถบรรทุกตระเวนสาดน้ำในพื้นที่ต่างๆ กำหนดระยะเวลาการเล่นน้ำ ให้เลิกเล่นน้ำในเวลาที่กำหนด ห้ามใช้แป้งและสีต่างๆ มาเล่น 2.2 ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยและประหยัดน้ำ เช่น ใช้ขันขนาดเล็ก ไม่ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เล่นน้ำอย่างสุภาพ และ 2.3 ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่าและน้ำสะอาด เพื่อสุขอนามัย
3. รณรงค์เรื่อง "ชีวาปลอดภัย" ได้แก่ 3.1 ขอความร่วมมือภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดกิจกรรม กำหนดเวลาเปิด-ปิด จัดกิจกรรมและงดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด 3.2 ควบคุมและรณรงค์ผู้ใช้รถ โดยใช้มาตรการเมาไม่ขับและมีน้ำใจให้แก่กัน ในการใช้รถใช้ถนน หากพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมให้แจ้งหน่วยงานหรือศูนย์รับแจ้งเหตุของหน่วยงานต่างๆ 3.3 มาตรการ 6 ด้าน ได้แก่ ลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน ถนน และยานพาหนะ มาตรการด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ความปลอดภัยทางน้ำ และการดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ 3.4 มีมาตรการควบคุมความเร็วการใช้รถให้ใช้รถใช้ถนนตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ตรวจความพร้อมของผู้ขับรถสาธารณะ ศูนย์บริการตรวจสภาพรถฟรี รวมถึง มีศูนย์รับแจ้งเหตุร้องเรียน การใช้รถใช้ถนน โดยกรมการขนส่งทางบก และจุดบริการพักรถระหว่างการเดินทาง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ในช่วงประเพณีสงกรานต์
นายวีระ กล่าวด้วยว่า แนวทางและมาตรการรณรงค์ดังกล่าว จะก่อให้เกิดการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมประเพณีที่เหมาะสม ดีงาม เป็นการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้คงคุณค่า สาระและความงดงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่สามารถแสดงให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้รับความสุขจากประเพณีสงกรานต์ และได้ร่วมสืบสานประเพณีที่สำคัญของประเทศไทย
อีกทั้งยังได้สัมผัสกับความงดงามของประเพณี วัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อันทรงคุณค่าและมีมายาวนานของประเทศไทย รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีแก่สายตาชาวโลกที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เดินทางมาท่องเที่ยวในประเพณีสงกรานต์ ทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทย เกิดการขยายตัว และก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนาทาง ด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป