สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 2-6 เม.ย. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 9-13 เม.ย. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

09 Apr 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 79.35เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • นักลงทุนกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจลุกลามจนกระทบเศรษฐกิจโลก ล่าสุดวันที่ 6 เม.ย. 61ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายDonald Trump สั่งการให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Trade Representative) พิจารณาเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มวงเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนเตรียมตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ รอบใหม่ อาทิเนื้อวัวและพลังงานที่ผลิตจากแหล่งน้ำมันในชั้นหินดินดาน (Shale Field) ที่ประธานาธิบดี Trump ต้องการขยายตลาดส่งออก เพื่อให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำการค้าน้ำมันและก๊าซในตลาดโลก
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11 แท่น มาอยู่ที่808 แท่น
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 มี.ค.61 ขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 27,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดใหม่
  • กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ธ.ค. 60 และสูงสุดในรอบ 11 เดือน และสูงกว่าข้อตกลงจำกัดปริมาณการผลิตกับกลุ่ม OPEC ที่ระดับ 10.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • กระทรวงน้ำมันอิรักรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากท่าทางตอนใต้ เดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 270,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่เขตปกครองตนเอง Kurdistan ทางตอนเหนือของอิรัก ส่งออกน้ำมันดิบโดยใช้ท่อขนส่งไปยังเมืองท่า Ceyhan ในตุรกี ปริมาณ300,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 425.3ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มทยอยกลับมาดำเนินการหลังสิ้นสุดฤดูปิดซ่อมบำรุง ทำให้อัตราการกลั่นเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.7% มาอยู่ที่ 93.0%
  • Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน มี.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบเกือบปี ทำให้อัตราความร่วมมือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 159% เมื่อเทียบกับระดับเป้าหมาย
  • บริษัทที่ปรึกษา Petro-Logistics รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในไตรมาสที่ 1/61 อยู่ที่ 32.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นการผลิตรายไตรมาสต่ำสุด ตั้งแต่เริ่มมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตในปี 2560 และต่ำกว่าปริมาณการผลิตเฉลี่ยในปี 2560 อยู่ที่ 450,000 บาร์เรลต่อวัน
  • Reuters คาดการณ์ปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ Forties, Brent, Oseberg, Ekofisk และ Troll จากแหล่งทะเลเหนือ ในเดือน พ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 72,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 948,000 บาร์เรลต่อวัน
  • Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 3 เม.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครอง สุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 47,526 สัญญา มาอยู่ที่ 444,909 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันลดลงจากนักลงทุนวิตกต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางการค้าพิจารณาภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพิ่มเติมอีก เป็นมูลค่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่จีนพร้อมจะตอบโต้อย่างรุนแรง นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่าภาษีดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่จะเป็นประเด็นสำหรับเปิดการเจรจาต่อไป อย่างไรก็ตามหากเกิดสงครามทางการค้าเต็มรูปแบบ นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีนจะได้รับผลกระทบสูงกว่าที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างประกาศ โดย GDP แท้จริงของสหรัฐฯ และจีน ในปี 2562 จะชะลอตัว โดยลดลงประมาณ 1.0 % YoY และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็น 2.5 % YoY จากกรณีพื้นฐานที่คาดว่าจะเติบโต 3.0 % YoY อาจทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกลดลง และมีข่าวกระทรวงน้ำมันอิรักประกาศได้ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท Anton Oilfield Services และ Petrofac เพื่อดำเนินการผลิตน้ำมันจากแหล่ง Majnoon ทางตอนใต้ โดยมีแผนจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งปัจจุบันที่ 240 KBD เป็น 450 KBD ภายใน 3 ปี ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Wood Mackenzie คาดการณ์ว่าในปี 2561 นี้ บริษัทผู้ประกอบการสำรวจ และผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติทั่วโลกมีแนวโน้มจะมุ่งเน้นโครงการที่ใช้เงินทุนน้อยลง และเร่งรอบการผลิต เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเร็วขึ้น (Leaner & Meaner) โดยมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 6 โครงการ และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติรวมประมาณ 30 โครงการ ใกล้เคียงกับปี 2560 ซึ่งจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2559 แต่รายจ่ายด้านการลงทุนเฉลี่ยในปี 2560 อยู่ที่ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/โครงการนับเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาสนใจโครงการขนาดเล็ก และขยายแหล่งเดิมที่ผลิตอยู่แล้ว ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ62.0-66.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.5-68.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากโรงกลั่นน้ำมัน Kawasaki (กำลังการกลั่น 235,000 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่นของบริษัท JXTG Nippon Oil & Energy กลับมาเดินเครื่องหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit – กำลังการกลั่น 65,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 61 หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่ 10มี.ค. 61 และ China National Petroleum Corp. (CNPC) ของจีนส่งออกน้ำมันเบนซินจากมณฑล Guangxi ไปยัง Bahamas เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 61 ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ประกอบกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ( Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซิน เดือน ก.พ. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 27.5% มาอยู่ที่ 14,900 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม Platts รายงานมีแรงซื้อน้ำมันเบนซินจากศรีลังกาขณะที่อินโดนีเซียอาจนำเข้าน้ำมันเบนซินจำนวนมาก เพื่อเก็บสำรองล่วงหน้าก่อนเทศกาลรอมฏอน (16 พ.ค.-14 มิ.ย. 61) ด้านปริมาณสำรองInternational Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน1.20 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.44 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 238.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 78.5-82.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากบริษัท Essar Oil Ltd. (EOL) ในอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซล ปริมาณ 530,000 บาร์เรล ส่งมอบ 5-9 เม.ย. 61 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.80 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.61 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัท Ceypetco ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณรวม 341,000 บาร์เรล จำนวน3 เที่ยวเรือ ส่งมอบปลายเดือน พ.ค. 61 และ Platts รายงาน Arbitrage Ultra Low Sulfur Diesel (ULSD) จากภูมิภาคตะวันออกไปยุโรปเปิด และคาดว่าปริมาณส่งออกในเดือน เม.ย. 61 ไปยังยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ (NWE) อยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรล และไปยังเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80.0-84.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล