ราคาน้ำมันดิบทรงตัว ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคง
คลังสหรัฐฯ ปรับลดลง
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2561
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 เม.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบคาดจะทรงตัว หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการอีกครั้งจากการปิดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศลิเบีย และเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ตึงเครียดมากขึ้น สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มี.ค. 61 ปรับลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับ 425.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 93
- ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือนมี.ค. รายงานโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน โดยลดลง 90,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 32.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการปรับลดหลักๆ มาจากการแองโกลา ลิเบีย และเวเนซุเอลา
- จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากรัฐบาลจีนประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายรายการจากสหรัฐฯ ซึ่งท่าทีของจีนครั้งนี้เป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ของจีนก่อนหน้านี้ หลังจากนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประธานาธิยดี โดนัลด์ ทรัมป์ แจ้งให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ พิจารณารายการสินค้านำเข้าจากจีนที่สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศตึงเครียดมากขึ้น
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ ณ ปัจจุบันอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในสหรัฐฯ โดยในสัปดาห์ล่าสุด ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับ 10.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และ EIA ยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะแตะ 11.25 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธ.ค. 61 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับระดับการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย ประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน และปริมาณการส่งออกจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 เม.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มที่ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน