เกษตรฯ เตือนชาวไร่มันสำปะหลังระวังทัพศัตรูบุกโจมตีช่วงฤดูแล้ง

10 Apr 2018
กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศเฝ้าระวังเพลี้ยแป้ง-ไรแดงระบาดในช่วงฤดูแล้ง จับตาโรคพุ่มแจ้มันสำปะหลังจ่อระบาด
เกษตรฯ เตือนชาวไร่มันสำปะหลังระวังทัพศัตรูบุกโจมตีช่วงฤดูแล้ง

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงนี้ เริ่มพบการทำลายของเพลี้ยแป้ง และไรแดงมันสำปะหลังในหลายพื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศร้อน แห้งแล้ง และฝนเริ่มทิ้งช่วง สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตมันสำปะหลังค่อนข้างมาก อีกทั้งล่าสุดยังพบการทำลายของโรคพุ่มแจ้ บริเวณจังหวัดสระแก้วชลบุรี และในอีกหลายจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งพบการระบาดของโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว โดยคาดว่าอาจเกิดจากการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาในประเทศไทย จึงฝากเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ศัตรูมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง หากพบอาการผิดปกติกับต้นมันสำปะหลัง หรือไม่สามารถควบคุมการระบาดในแปลงมันสำปะหลังได้ ให้แจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านเพื่อดำเนินการป้องกันกำจัดทันทีทันทีรองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันศัตรูพืชสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก

การไถตากดินอย่างน้อย ๑๔ วัน พ่นท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งปลูกอื่น และการแช่ท่อนพันธุ์ก่อนการเพาะปลูก ด้วยสารเคมีอิมิดาคลอพริด หรือไทอะมิโทแซม อัตรา ๔ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือสารเคมีไดโนทีฟูแรน อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (แช่ท่อนพันธุ์นาน ๕ - ๑๐ นาที) วิธีนี้ช่วยป้องกันเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์ได้

ในส่วนของการป้องกันกำจัดศัตรูมันสำปะหลัง เน้นการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ได้แก่ ชีววิธีโดยใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงช้างปีกใส แตนเบียน Anagyrus Lopezi ด้วงเต่าตัวห้ำ และเชื้อราบิวเวอร์เรียควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และใช้ไรตัวห้ำ ด้วงเต่า Stethorus spp. เพื่อควบคุมไรแดงมันสำปะหลัง หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมี ให้ใช้สารเคมีอามีทราซ ๒๐% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ให้พ่นเฉพาะบริเวณที่มีไรแดงทำลาย และไม่ควรพ่นสารเคมีซ้ำเกิน ๒ ครั้ง ในส่วนของโรคพุ่มแจ้การป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของโรค และพืชอาศัยของแมลงพาหะนำโรค บำรุงต้นมันสำปะหลังให้สมบูรณ์แข็งแรงโดยการให้ปุ๋ย ให้น้ำอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบการระบาดไปยังแหล่งอื่น รวมถึงการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่น ซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคพุ่มแจ้ อีกทั้งการตัด หรือขุดต้นมันสำปะหลังที่พบทั้งโรค และแมลงศัตรูพืชไปเผาทำลายนอกแปลง ยังเป็นการช่วยลดปริมาณของศัตรูพืชได้อีกทางหนึ่งด้วยและสิ่งสำคัญที่สุดคือตัวของเกษตรกรเองควรหมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

หากพบมันสำปะหลังแสดงอาการยอดอ่อนงอหงิกเป็นพุ่ม ลำต้นบิดเบี้ยว มีช่วงข้อถี่ เกิดราดำปกคลุมบางส่วนของใบและยอดมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หรือใบมันสำปะหลังเหลืองซีดเป็นรอยขีด มีจุดด่างเหลือง ใบม้วนงอ ซึ่งเกิดจากการทำลายของไรแดง หรือหากพบใบ ยอดมันสำปะหลังหงิกงอ แคระแกร็น และแตกเป็นฝอยค่อนข้างมาก แต่เมื่อสังเกตยอดที่แสดงอาการจะไม่พบตัวเพลี้ยแป้ง นั่นคือลักษณะการทำลายของโรคพุ่มแจ้ ซึ่งเกษตรกรบางรายอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของเพลี้ยแป้ง เนื่องจากอาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอกใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เมื่อพบการระบาดขอให้เกษตรกรดำเนินการป้องกันกำจัดทันทีเพื่อไม่ให้การระบาดแผ่ขยายเป็นวงกว้าง