นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "กิจกรรมประเมินศักยภาพและเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ" ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภาพสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นความร่วมมือระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย สถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สวน.) กับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สืบเนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำนโยบาย THAILAND 4.0 มาใช้พัฒนาประเทศ เพื่อให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนทุกภาคส่วน ต่างขานรับกับนโยบายดังกล่าว จึงเกิดการปรับตัวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ส.อ.ท. ในฐานะศูนย์กลางของภาคอุตสาหกรรมไทย ได้มีการนำโมเดลของ Industry 4.0 มาเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการสำรวจความพร้อม และศักยภาพของสถานประกอบการ โดยใช้เครื่องมือแบบประเมินตนเอง หรือ Self-assessment ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลจากการสำรวจข้อมูลจากแบบประเมินดังกล่าว พบว่า ผู้ประกอบการไทยกว่า 70% มีศักยภาพในการผลิตอยู่ในระดับ 2.0 - 2.5 โดยมิติที่เป็นจุดอ่อนของภาคอุตสาหกรรมไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบริหารการผลิต และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต เป็นต้น ทั้งนี้การสำรวจดังกล่าวยังทำอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. เท่านั้น และเพื่อให้เกิดการสำรวจข้อมูลที่ขยายผลจากเดิมและมีความต่อเนื่อง จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพสถานประกอบการทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต การค้า และการบริการ โดยใช้แบบประเมินตนเอง หรือ Self-assessment ที่มีการปรับปรุงจากแบบประเมินฉบับเก่า และจัดทำให้เข้าถึงได้ง่ายในรูปแบบ Self-assessment online ที่ประกอบด้วย 2 ชุดคำถาม ได้แก่ ชุดคำถามสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และชุดคำถามสำหรับภาคการค้าและบริการ มีจุดเด่นอยู่ที่ การวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลได้แบบ Real time รวมไปถึงสามารถเปรียบเทียบศักยภาพในการแข่งขันของกิจการตนเอง กับ กิจการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ด้วย โดยในครั้งนี้มีเป้าหมายเก็บข้อมูลจากสถานประกอบการ จำนวนกว่า 1,500 กิจการทั่วประเทศ และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในการประเมิน ส.อ.ท. จะเชิญหน่วยงาน สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สถาบันไทย-เยอรมัน เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง Self-assessment ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยวางแผนที่จะพัฒนาให้แล้วเสร็จและเปิดให้สถานประกอบการเข้ามาใช้ประเมินตนเองได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2561 นายเจน กล่าว
นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ รักษาการวิศวกรเชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการในลักษณะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติมาใช้ในสถานประกอบการเป็นปีที่ 3 เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาเรื่องค่าแรง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งสิ้น ซึ่งการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เสมือนเป็นการติดปีกให้ผู้ประกอบการไทย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าของโลก ดังนั้น การพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการ จึงต้องมีการประเมิน เพื่อค้นหาคอขวดหรือจุดอ่อนของระบบการผลิตเพื่อแก้ไขก่อน จึงเป็นแนวทางการแก้ไข โดยจุดเด่นของการประเมินนี้ สามารถแสดงผลการประเมินแบบ Real Time เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตัวเองโดยการแข่งขันกับตัวเองได้ตลอดเวลา โดยได้รับความร่วมมือจากสภา-อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ช่วยเป็นสื่อกลางในการทำกิจกรรมนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการไทย โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหวังว่า เครื่องมือนี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาตัวเองของผู้ประกอบการไทย ได้อย่างยั่งยืนต่อไป