กรมส่งเสริมสหกรณ์ห่วงความเสี่ยงสหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้แก่สมาชิกเกินความสามารถชำระหนี้

20 Apr 2018
กรมส่งเสริมสหกรณ์สั่งตรวจสอบวงเงินของสหกรณ์ต่างๆ ที่มาปล่อยกู้และฝากกับสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ ว่ามีข้อผิดสังเกตหรือไม่ พร้อมกันนี้ยังตรวจดูความเสี่ยงของสหกรณ์อื่นๆ โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ครู-ตำรวจ ปล่อยกู้สูง เพิ่มหนี้ครัวเรือนและอาจส่งผลในยามเกษียณแล้วไม่มีเงินใช้หนี้คืนสหกรณ์

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ว่า ภายหลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ปลดคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ ชุดที่ 12 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เป็นการชั่วคราว เข้าไปบริหารงานแทน ล่าสุดกรมฯ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินทั้งหมดที่สหกรณ์ต่างๆ ได้นำมาฝากหรือให้สหกรณ์สโมสรรถไฟฯ กู้ยืม ว่า การดำเนินการดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากรมฯ ได้ออกระเบียบให้สหกรณ์แต่ละแห่งนำเงินของสมาชิกไปฝากหรือปล่อยกู้ยังสหกรณ์ต่างๆ ได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นเท่านั้น

"กรมฯ มีเกณฑ์กำกับ โดยเฉพาะการที่สหกรณ์หนึ่งจะเอาเงินไปให้อีกสหกรณ์หนึ่งกู้ หรือฝาก รวมแล้วแต่ละแห่งจะต้องไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมทุนสำรองของตัวเอง แต่ที่ผ่านมาการฝากเงินหรือปล่อยกู้ให้สหกรณ์สโมสรรถไฟฯ มีบางสหกรณ์เอาเงินทุนของตัวเองมากถึง 40% มาฝาก เช่น ทุนตัวเองมีอยู่ 1,000ล้านบาท ก็นำเงินไปฝากถึง 400 ล้านบาท ถือว่ามีความเสี่ยงสูงหากเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งการเอาเงินไปฝากมากๆนี้ ก็เกิดจากสหกรณ์สโมสรรถไฟฯ ให้ดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้นกรมฯ จึงได้ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์คุมทั่วประเทศ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ไม่เกิน 4.5% ต่อปี และมิ.ย.61จะลดเหลือ 4% เป็นขั้นบันได จนเหลือต่ำสุดในปี 63 เหลือไม่เกิน 3.5% ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น"

อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดชั่วคราวที่แต่งตั้งขึ้นนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการชุดดังกล่าวกำลังเร่งแก้ไขปัญหาเดิมของคณะกรรมการชุดก่อน โดยเฉพาะการเร่งรัดการดำเนินคดี เพื่อเรียกคืนค่าเสียหาย พร้อมทั้งหาทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอผ่อนผัน และยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 180 วัน หลังจากนั้นจึงเลือกคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารงานต่อไป

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันกรมฯ ยังได้มีการสำรวจปัญหาการดำเนินงานของสหกรณ์ต่างๆ ทั่วประเทศ และพบว่า มีบางแห่งกำลังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านการบริหารจัดการด้านการเงิน โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ที่ได้มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิกต่อรายเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก จนส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจมีความเสี่ยงขึ้นมาในกรณีที่สมาชิกรายดังกล่าวเกษียณอายุราชการ ส่งผลทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้คืนในอัตราต่ำ เพราะรายได้ลดลง ดังนั้น กรมฯ จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาในภายหลัง

"ความเสี่ยงเรื่องการปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการตอนนี้น่ากังวล เพราะสหกรณ์ปล่อยกู้ต่อรายเป็นจำนวนเงินสูง พอเกษียณแล้วรายได้ลดลง เงินได้รายเดือนเหลือไม่พอการชำระหนี้ ประกอบกับสมาชิกมีหนี้หลายทาง ทั้งเป็นลูกหนี้ธนาคาร กองทุนหมู่บ้าน เช่าซื้อต่าง ๆ ภาระหนี้สินที่มาก ปัญหาตรงนี้กำลังเกิดมากขึ้นเป็นปัญหาการ ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ ดังนั้นกรมฯ จึงต้องกำกับการปล่อยกู้ของแต่ละสหกรณ์ ด้วยการดูความสามารถในการ ชำระหนี้ของลูกหนี้ตัวเองด้วย เพราะบางสหกรณ์นั้น ทางผู้สอบบัญชีไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่ลูกหนี้ไม่มีความสามารถชำระหนี้คืนเกือบ 100 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการสหกรณ์จึงต้องระมัดระวังในการให้สินเชื่อแก่สมาชิกด้วย" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว