คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การพัฒนาการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับรากฐาน สังคมไทยได้ฝากความหวังของประเทศกับระบบนี้ในฐานะที่เป็นระบบหลักในการพัฒนาศักยภาพของพลเมือง มายาวนาน แต่การศึกษากลับกลายเป็นความทุกข์ร่วมของคนทั้งสังคม ครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง และคนในบริบทแวดล้อม แม้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจะมีการกระจายอำนาจและทรัพยากรในการพัฒนาและจัดการ แต่กระนั้นดูเหมือนว่าการดำเนินงานยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ซึ่งทำให้รูปแบบวิธีการไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราจะสร้างการศึกษาที่ช่วยลดความทุกข์ของสังคมไทยได้อย่างไร? เราจะสร้างการเรียนรู้ที่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนได้อย่างไร? และเราจะสร้างห้องเรียนที่มีความหมายและมีความสุขต่อทั้งตัวครูและนักเรียนได้อย่างไร?
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ที่มองเห็นปัญหานี้ร่วมกัน จึงรวมตัวกันทำ "โครงการก่อการครู" โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการผู้นำแห่งอนาคต ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทย โครงการฯ มุ่งทำงานกับครูซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของระบบการศึกษา ประมาณ 5,000 คน หรือร้อยละ 1 ของจำนวนครูในประเทศ เพื่อให้ครูมีศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และเป็นจุดคานงัดของระบบการศึกษา ภายในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ในระยะแรกทางโครงการได้ทำงานกับครูแกนนำในระดับมัธยมศึกษาเพื่อให้เป็นผู้บุกเบิกการสร้างชั้นเรียนที่มีความหมายและความสุข จำนวนกว่า 80 คน เริ่มต้นการทำงานช่วงแรกจาก 3 ช่วงแล้ว เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะดำเนินการแล้วเสร็จทุกช่วงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561
อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ หัวหน้าโครงการก่อการครู ได้อธิบายเป้าหมายหลัก 3 ข้อ ของโครงการว่า "เป้าหมายแรก คือ การสร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราตั้งเป้าไว้ที่ครู 5,000 คน จากครูทั้งหมด 500,000 คน ทั่วประเทศ เราขอทำงานกับ 1% นั้นก่อนเพื่อเป็นจุดคานงัด เป้าหมายที่สองคือสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ คล้ายกับชุมชมการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (PLC) แต่เราอยากจะทำให้พื้นที่นี้มีชิวิตชีวาและมีความหมายสำหรับครูในการที่จะได้มาพบเจอและเติมพลังซึ่งกันและกัน เป้าหมายที่สามเราอยากจะเห็นว่าแนวทางการสร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้กับการศึกษาไทยได้"
โดยอาจารย์อธิษฐาน์ได้อธิบายให้เห็นว่า จุดหนึ่งที่ชุมชนการเรียนแห่งนี้อาจแตกต่างจากที่อื่น คือ "การให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ในตัวครู และเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 3 ช่วง" ซึ่งช่วงแรก คือ "การมองเข้าไปสำรวจความเป็นมนุษย์หรือความเป็นคนของครู" ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 29 – 31 มีนาคม 2561
ได้รับเกียรติจากกระบวนกรหลัก 3 ท่าน คือ อาจารย์ธนัญธร เปรมใจชื่น กระบวนกรนักจิตบำบัด ผู้ก่อตั้ง บริษัท เซเว่น เพรสเซ่นส์ จำกัด ที่ได้ชวนครูทุกคน 'มองเข้าไปข้างใน ความเป็นคนของคนเป็นครู' เพราะการที่ครูรู้เท่าทันตัวเองจะช่วยเสริมพลังจุดหมายในการเป็นครูของตนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงขับในการทำงานต่อไป อาจารย์พฤหัส พหลกุลบุตร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ กลุ่มละครมะขามป้อมและมหาลัยเถื่อน มาชวนคิดในประเด็น 'กล้าที่จะไม่สอน : จากการสอนในวัฒนธรรมเชิงอำนาจนิยมสู่กระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์' เพื่อให้ครูได้สำรวจผลกระทบจากการใช้อำนาจ และร่วมกันหาทางเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชั้นเรียน ท่านสุดท้าย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน อาจารย์ภาควิชาจิตเวช ศิริราชพยาบาล และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาสำหรับเด็กและวัยรุ่น ชวนสังเกตและปรับวิธีการ 'การจัดการห้องเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความหลากหลายและความต้องการพิเศษ' โดยข้อคิดสำคัญจากห้องเรียนนี้ คือ การรับฟังและเข้าใจความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบห้องเรียนให้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง ผลลัพธ์จากกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 3 ห้อง และกระบวนการเรียนรู้รวม ต่างทำให้ครูทุกท่านจากทั่วประเทศเดินทางกลับโรงเรียนของตนด้วยความเบิกบาน และมีพลังใจในการทำงานเต็มเปี่ยม
สำหรับช่วงที่ 2 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคมและสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ จะเป็นตลาดวิชาประมาณ 20 วิชา ให้ครูได้เลือกเติมเต็มทักษะและเครื่องมือต่าง ๆ ตามความสนใจ เช่น วิชากระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับการศึกษา และการออกแบบเกมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น ก่อนจะต่อด้วยช่วงสุดท้ายในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ที่จะเน้นการพัฒนาและออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ครูมีทักษะและความสามารถในการเป็นครูกระบวนกร เพราะครูยุคใหม่จะไม่ใช่ผู้สอนอีกต่อไป แต่จะเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ผลลัพธ์ของโครงการก่อการครูจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับพลังของครูรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ซึ่งพลังอันยิ่งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่ผนึกกำลังรวมกัน โดยอาจารย์อธิษฐาน์ ทิ้งท้ายไว้ว่า "เราเชื่อว่า ครูคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ครูคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เริ่มต้นขึ้น จะส่งผลกระทบออกไปยังวงกว้าง เริ่มจากชั้นเรียนของเขาเองที่มีเด็กจำนวนนับร้อย แล้วขยายไปยังเพื่อนครูด้วยกัน เราอยากเห็นภาพของการสานกันเป็นเครือข่าย เกิดการขับเคลื่อนของครูในภูมิภาคต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน (Collective Leadership) เพื่อหาทางออกให้กับการศึกษา และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit