นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 603 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 57 ราย ผู้บาดเจ็บ 626 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 43.62 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.70 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.58 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.17 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 43.62 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 32.84 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 30.68 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.11 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,030 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,491 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 858,520 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 181,692 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 50,603 ราย ไม่มีใบขับขี่ 48,061 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (34 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (9 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (39 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (11 – 14 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 2,449 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 248 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,557 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง ลพบุรี สตูล สมุทรสงคราม หนองคาย หนองบัวลำภู และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (99 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (17 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (109 คน)
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันที่ 13 – 14 เมษายน 2561 พบว่า ถนนสายรองและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากหลายพื้นที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ และเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง มีสาเหตุหลักจากการขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ ประกอบกับในวันนี้หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์ ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเน้นการเรียกตรวจของด่านชุมชน เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงการเล่นน้ำสงกรานต์ท้ายกระบะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ โดยได้จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงยานพาหนะให้พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุทันที หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ซึ่งมีทีมแพทย์ พยาบาล และเครื่องมือฉุกเฉินพร้อมให้บริการอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนอำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาล และรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ และนำส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า ในวันนี้ประชาชนบางส่วนยังคงท่องเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ ในขณะที่บางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับแล้ว จึงขอให้จังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ และการอำนวยความสะดวกในการจราจรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัย ทั้งบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเส้นทางโดยรอบ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย.61) ประชาชนจะเดินทางกลับเป็นจำนวนมาก ศปถ.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยและอำนวยการจราจรบนเส้นทางสายหลัก พร้อมจัดเตรียมจุดบริการ จุดพักรถ และการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ เพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 15 – 18 เมษายน 2561 พื้นที่ทั่วประเทศอาจเกิดพายุฤดูร้อน ในลักษณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ซึ่งสภาพถนนที่เปียกลื่น และทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ไม่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จึงขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัย ให้ยึดการปฏิบัติตามหลัก "4 ห้าม 2 ต้อง" 4 ห้าม ได้แก่ ห้ามขับรถเร็ว ห้ามเมาแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ ง่วงห้ามขับ 2 ต้อง ได้แก่ ต้องสวมหมวกกันน็อก และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อให้การเดินทางเป็นไปด้วยความปลอดภัย