บล.ไทยพาณิชย์คงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ย้ำเป้า SET index ปลายปีนี้ที่ 1900 จุด

17 Apr 2018
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) คงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มตลาดหุ้นไทย รับอานิสงส์จากปัจจัยหนุนภายในประเทศ ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศด้วยงบกลางปี หนุนเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ทำให้สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นและคุณภาพสินทรัพย์ภาคธนาคารดีขึ้น มั่นใจ SET index ปลายปีนี้ปรับตัวไปสู่เป้าหมาย 1900 จุด สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ถึงคิวมองหาหุ้นเติบโตดีที่ราคายังไม่แพง ชูกลุ่มธนาคาร กลุ่มพาณิชย์ และ กลุ่มโรงพยาบาล
บล.ไทยพาณิชย์คงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ย้ำเป้า SET index ปลายปีนี้ที่ 1900 จุด

นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปิดฉากปี 2560 อย่างสวยงาม โดยประเมินอัตราการขยายตัวที่ 3.7% YoY และดูเหมือนว่าโมเมนตั้มจะดีต่อเนื่องในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน คือ สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็วกว่าคาดและแนวโน้มที่อาจจะเกิดสงครามการค้าโลก ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัว 3.9% ในปี 2560 อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตในปี 2561 ยังดูดีโดยมีสัญญาณจากการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายอุปโภคบริโภคยังแข็งแกร่งต่อเนื่องจากปีก่อน เมื่ออิงกับประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะขยายตัว 3.9% YoY ในปีนี้ เร่งตัวขึ้นจากการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะยังคงหนุนภาคส่งออกของไทยควบคู่ไปด้วย

ปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงหลักๆ 2 อย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงิน ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจปรับขึ้นเร็วกว่าคาดเนื่องจากปัจจัยกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก จากตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น และ output gap เป็นบวกมากขึ้นซึ่งบ่งบอกว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตตึงตัวมากขึ้นสอดคล้องกันในหลายๆ ภาคธุรกิจ ชี้ให้เห็นว่าโมเมนตั้มการเติบโตอาจแข็งแกร่งกว่าคาดในสหรัฐฯ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 4 ครั้งในปีนี้ เร็วกว่าที่ตลาดคาดว่าน่าจะขึ้นเพียง 3 ครั้ง

"SCBS มองว่า ความกังวลที่จะเกิดสงครามการค้าทั่วโลกกลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2559 สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องซักผ้า เหล็ก อลูมิเนียม ซึ่งแม้จะมีการผ่อนปรนให้กับคู่ค้าบางประเทศเช่น ออสเตรเลีย แคนนาดา เม็กซิโก ฯลฯ แต่การประกาศเตรียมขึ้นภาษีระรอกล่าสุดที่มีการตอบโต้ไปมาระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการค้ามากขึ้น"

กลยุทธ์การลงทุนประจำไตรมาส 2 ปี 2561 SET index ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงกลางเดือนมี.ค. หลักๆ ได้รับปัจจัยกระตุ้นจากกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี คาดว่า SET index จะเคลื่อนไหวแบบ sideways ในไตรมาส 2 ปี 2561 และยังคงเป้า SET index สิ้นปี 61 ไว้ที่ 1900 จุด สำหรับหุ้น Top Picksประจำไตรมาส 2 ปี 2561 เลือกกลุ่มธนาคาร เพราะสินเชื่อจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นและคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้เลือกกลุ่มพาณิชย์เพราะงบประมาณกลางปีจะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายรากหญ้า สุดท้าย กลุ่มการแพทย์ เนื่องจากเป็นหุ้น laggard และกำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งใน ปี 2561 ประกอบกับ เทรนด์ใหม่ของธุรกิจประกันสุขภาพซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว

  • บมจ. กรุงเทพ (BBL): หุ้น laggard paly ที่ดีที่สุดในกลุ่มธนาคารเพราะจะได้รับประโยชน์จากวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่และรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายสินค้ากลุ่มประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้น
  • บมจ.กรุงไทย (KTB): ราคา laggard ซื้อขายที่ PBV 0.9 เท่า (-1SD จากค่าเฉลี่ย 15 ปี ) เติบโตตามการลงทุนภาครัฐและวัฏจักรการลงทุนระรอกใหม่ของประเทศ
  • บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC): ราคา laggard ซื้อขายที่ PEG ปี 61 ระดับ 1.0 เท่า (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ 2.2 เท่า) คาดกำไรเติบโต 33% ในปี 61
  • บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL): หุ้น laggard มากที่สุดในกลุ่มพาณิชย์ กำไรปี 61 จะเติบโต 22% โดยได้รับปัจจัยกระตุ้นจาก SSS ที่เติบโต 4.5% (ดีที่สุดในกลุ่มพาณิชย์)
  • บมจ.โรบินสัน (ROBINS): ถูกที่สุดในกลุ่มพาณิชย์ที่ PE ปี 61 ระดับ 22 เท่า (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ 32 เท่า) และกำไรจะเติบโต 16% เพราะ SSS และอัตรากำไรจะปรับตัวดีขึ้น
  • บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS): ราคาหุ้นยังปรับขึ้นน้อยกว่า SET นับตั้งแต่ตลาดเริ่มปรับตัวขึ้นในเดือนก.ย. 60 EPS จะเติบโต 17% ในปี 61 และมีการจับมือกับบริษัทประกันซึ่งจะทำให้รายได้จากผู้ป่วยประกันสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว
  • บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG): ราคาหุ้นลดลง 28% ใน 1 ปีที่ผ่านมาเพราะกังวลเรื่องการแข่งขันขยายกิจการสู่พื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งรพ.เอกชนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5-15% ของจำนวนเตียงทั้งหมด
  • HTML::image( HTML::image( HTML::image(