ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันในระยะสั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ความตึงเครียดในซีเรีย และพันธมิตรชาติตะวันตก ได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร โจมตีฐานอาวุธเคมีในซีเรีย สถานการณ์โดยรวมยังคงคุกรุ่นเพราะการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการพอกพูนความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียและอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันดิบและทองคำอยู่ในช่วงขาขึ้นจากแรงสนับสนุนทางปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ปัจจุบันน้ำมันดิบเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสินทรัพย์ในการจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมันดิบหลักของโลก อีกทั้ง ความประหวั่นของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ว่ารัสเซียจะตอบโต้พันธมิตรชาติตะวันตกเช่นไร รวมไปถึงสหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่านและรัสเซียเพิ่มเติมอีกหรือไม่ (ด้วยข้อหาช่วยรัฐบาลซีเรียผลิตอาวุธเคมี) อาจผลักดันราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งหากปะทุขึ้นมาอีกครั้งและกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จะกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ราคาทองคำล้วนได้แรงหนุนเชิงบวกไม่ว่าจะสมรภูมิการรบหรือการค้า โดยมีแนวโน้มทะยานไปถึง$1,400/Oz ส่วนราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ต้องจับตาการทดสอบบริเวณระดับราคาสำคัญที่ 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะกำหนดทิศทางว่า ICE Brent จะเคลื่อนไปสู่กรอบใหม่เหนือ 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือกลับมาอยู่ภายใต้กรอบ 61-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.0-71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จาก Platts รายงานอุปสงค์เบนซินของสหรัฐฯ ช่วงฤดูร้อนแข็งแกร่ง โดยปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินที่ US Atlantic Coast เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ 11.92 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.67 ล้านบาร์เรล ) สูงสุดในรอบ 7 เดือน และนำเข้าจาก ARA ปริมาณ 3.46 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.13 ล้านบาร์เรล) EIA คาดความต้องการใช้ เบนซินของสหรัฐฯ ในช่วงฤดูขับขี่ระหว่างวันที่ 28 พ.ค. – 3 ก.ย. 61 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้น Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อเบนซิน 88 RON จำนวน2 เที่ยวเรือๆ ละ 200,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 23-25 และ 25-27 พ.ค. 61 ขณะที่บริษัท Sinopec ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและโรงปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่สุด Zhejiang (460,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วยปิโตรเคมี (1.1 MTPA) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 61 เป็นเวลา 40 วัน ด้าน International Enterprise Singapore(IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 690,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.75ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตามบริษัท Saudi Aramco มีแผนเดินเครื่องโรงกลั่นแห่งใหม่ Jizan (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ. 2561 ซึ่งจะทำให้กำลังการกลั่นในประเทศ อยู่ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้าน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 5.14 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.0-84.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัท Saigon Petro ของเวียดนาม ออกประมูลซื้อ ดีเซล 0.05%S ปริมาณ 74,500 ส่งมอบช่วงเดือน พ.ค. 61 และ บริษัท Sinopec ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและโรงปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่สุด Zhejiang (กำลังการกลั่น 460,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วยปิโตรเคมี (กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 61 เป็นเวลา 40 วัน ด้าน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 370,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.24 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Alliance(กำลังการกลั่น 247,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Phillips 66 ที่รัฐ Louisiana ในสหรัฐฯ กลับมาเดินเครื่องหน่วย Diesel Hydrotreater (กำลังการกลั่น 65,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 8 เม.ย.61 หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 61 และ Platts รายงาน Arbitrage Ultra Low Sulfur Diesel (ULSD) จากเอเชียไปภูมิภาคตะวันตกปิด เนื่องจากอัตราค่าจ้างเรือขนส่งอยู่ในระดับสูง ด้าน PAJ รายงานปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์ เชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 540,000 บาร์เรล อยู่ที่ 3.94 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.0-85.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล