ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในอดีตส่วนใหญ่มักเกิดจากคนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ถากถางตัดไม้และทำนากุ้งรวมถึงการทำประมงแบบทำลาย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดความแปรปรวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชุมชนโดยเฉพาะการทำเกษตร สวนผลไม้ และอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ "ชุมชนบ้านเปร็ดใน" ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด ลุกขึ้นปกป้องชายฝั่งโดยการหาแนวทางต่างๆเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อปกป้องและลดการกัดเซาะชายฝั่งของชุมชนอย่างเข้มแข็ง จนประสบความสำเร็จกลายเป็นชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบริหารจัดการป่าชายเลนบนพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่ และยังเป็นแบบอย่างความสำเร็จในการจัดการชุมชนที่เปิดใจรับองค์ความรู้จากงานวิจัยและความรู้จากนักวิชาการเข้ามาปรับใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเหมาะสม โดยยึดปรัชญาด้านความพอเพียงและการพึ่งตนเองของชุมชน
ในอดีตชุมชนบ้านเปร็ดใน ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น จนทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณติดทะเลสูญหายเป็นจำนวนมาก รวมถึงทำให้ความสมบูรณของสัตว์น้ำลดน้อยลง จนอาจกระทบต่อความสมบูรณ์ของปูแสมที่มีอย่างชุกชุมในบริเวณนั้น ซึ่งในอดีตชุมชนบ้านเปร็ดในได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการนำวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น ยางล้อรถยนต์เก่ามาทำแนวป้องกันและลดการกัดเซาะชายฝั่ง เรียกว่า เต๋ายาง แม้จะช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ชุมชนยังมีความต้องการที่จะปรับปรุงรูปแบบ และวิธีการป้องกันเพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงความต้องการตรวจสอบประสิทธิภาพของแนวป้องกัน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงวิธีการป้องกันได้ด้วยตนเอง
เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและชุมชนผ่านกระบวนเรียนรู้ร่วมกันในโครงการ "การบรรเทาปัญหาการกัดเซาะแนวชายฝั่งทะเลบริเวณป่าน้ำเชี่ยว-ท่าตะเภา จังหวัดตราด โดยกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบ้านเปร็ดใน" โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดร.สมภพ รุ่งสุภา นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า " การกัดเซาะแนวชายฝั่งทะลบริเวณป่าน้ำเชี่ยว-ท่าตะเภา จังหวัดตราด เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนของชุมชนบ้านเปร็ดในมาเป็นระยะเวลานาน จากจุดเริ่มต้นของชุมชนที่มีแนวคิดในการแก้ไขโดยใช้เต๋ายางวางนอกแนวชายฝั่ง เพื่อลดพลังคลื่น และเพื่อให้เป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำ แต่ปัญหาคือรูปแบบการวางเต๋ายางยังขาดการพิสูจน์หรือการตรวจวัดทางวิชาการ เนื่องจากการกัดเซาะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบแนวราบ และแบบแนวดิ่ง วิธีการตรวจวัดจึงแตกต่างกันอีกทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้อยู่อาจไม่เหมาะกับชุมชน เพราะชุมชนต้องการความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก และเครื่องมือที่ใช้สามารถหาได้จากในพื้นที่ สามารถซ่อมแซมและทำได้ด้วยตัวเอง ประกอบกับรูปแบบการวางเต๋ายางหรือแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสิ่ง สำคัญคือ รูปแบบการวางและระยะห่างจากแนวชายฝั่งถึงแนวเต๋ายาง"
งานวิจัยในโครงการนี้ จึงเน้นการศึกษาลักษณะปัญหาการกัดเซาะและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณป่าน้ำเชี่ยว-ท่าตะเภา โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบ้านเปร็ดใน วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่ง การประเมินการกัดเซาะชายฝั่ง การประเมินการสะสมของตะกอนท้องน้ำ และการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและระบบนิเวศชายฝั่ง รวมทั้งจัดกระบวนการพัฒนาแผนชุมชนในการปฏิบัติการติดตามเฝ้าระวังฯและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากข้อมูลศูนย์ภูมิอากาศ สำนักพัฒนาอุตินิยมวิทยา พบว่า บริเวณภาคตะวันออกของอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดจันทบุรีถึงจังหวัดตราด มีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อนมากกว่าบริเวณอื่น แสดงถึงโอกาสที่จะเกิดการกัดเซาะรุนแรงอย่างน้อยทุก 7-10 ปี โดยจังหวัดตราดมีความถี่ในการเกิดพายุหมุนเขตร้อนบ่อยที่สุด และส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม
ในการดำเนินงานระหว่างปี 2555 -2558 นั้น ดร.สมภพ กล่าวว่า " ได้มีการศึกษาประสิทธิภาพเต๋ายางช่วยลดการกัดเซาะจริงหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีปริมาณของดินที่มีเต๋ายางเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องมีการปรับปรุงการสร้างแนวเต๋ายางใหม่เพื่อไม่ให้จมโคลนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากที่ชุมชนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิจัย เริ่มตั้งแต่การจัดเวทีพูดคุยรับฟังความคิดเห็นระหว่างคนในชุมชน ทำให้รู้ถึงสาเหตุที่มาของปัญหา จากนั้นมีการศึกษาดูงานเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆของแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เช่น ในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีนและบ้านโคกขาม รวมถึงการได้รับความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ ข้อดีข้อเสียของโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบต่างๆ
กระทั่งทางชุมชนบ้านเปร็ดในเลือกใช้ไม้ไผ่ เพราะหาง่ายในชุมชน ลดค่าใช้จ่าย ไม่สิ้นเปลือง อีกทั้งยังสามารถซ่อมแซมเองได้ จึงได้ปรับปรุงการสร้างแนวเต๋ายางใหม่ โดยวางติดกับแนวป่าชายฝั่งระยะห่าง 20 เมตร และเสริมให้เต๋ายางชุดใหม่ไม่จมโคลน โดยใช้การสวมยางล้อรถยนต์เก่ากับเสาไม้ไผ่ที่มีขนาดเสาละ 5 ลำไม้ไผ่ผูกติดกัน ทำให้โครงสร้างแข็งแรงกันการจมและการเคลื่อนตัวของเต๋ายางได้ ปักเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่ง 200 เมตรเพื่อเป็นการนำร่องในบริเวณพื้นที่ปากคลอง 7 ถึงปากคลอง 8"
นอกจากนี้ ยังได้สร้างแนวปักไม้ไผ่ทำเป็นหลักวัดระดับการเปลี่ยนแปลงพื้นทะเล มาใช้ในการวัดประสิทธิภาพของแนวปักไม้ไผ่ที่ทำขึ้น และเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ผลจริงหรือไม่ ชุมชนเองจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการสำรวจ และการเก็บข้อมูล ซึ่งนักวิจัยเข้ามาให้ความรู้ถึง วิธีการสำรวจ วิธีการเก็บข้อมูลตะกอน และวิธีการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับสูงต่ำของพื้นที่ทะเลแบบง่ายๆ ให้กับชุมชน ซึ่งนักวิจัยชุมชนสามารถทำได้ด้วยตัวเองต่อไป
ดร.สมภพ กล่าวว่า วิธีการตรวจวัดการกัดเซาะแบบแนวราบ หรือระยะห่างจากแนวชายฝั่งหรือแนวป่าชายเลนหลังทำแนวเต๋ายางถึงแนวชายฝั่งหรือแนวป่าชายเลนดั่งเดิม ใช้วิธีปักเสาคอนเกรีตติดหมายเลขเป็นหลักหมุดตำแหน่งที่แนวชายฝั่งหรือป่าชายเลนก่อนเริ่มทำแนวเต๋ายาง และวัดระยะการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งหลังเริ่มทำแนวเต๋ยางว่าถอยร่นหรือขยายตัวจากแนวเสาคอนกรีตที่เป็นหลักหมุดดังกล่าว ส่วนวิธีการตรวจวัดการกัดเซาะแบบแนวดิ่ง เป็นการตรวจระดับของขีดวัดระดับ โดยใช้ไม้ปักและใช้สายวัดระดับหรือเชือกวัดจากพื้นดินถึงขีดระดับที่ขีดไว้ในบริเวณแนวสาธิตถ้าตัวเลขน้อยแสดงถึงปริมาณดินมากขึ้นซึ่งหมายความว่าพื้นดินบริเวณนั้นสูงขึ้น( หน่วยเมตร/วัน) ทั้งนี้การตรวจสอบ
พบว่า มีตะกอนเข้ามาหลังแนวเต๋ายางมากน้อยเท่าไหร่นั้น ใช้วิธีการนำกระบอกหรือขวดพลาสติกมัดผูกติดกับไม้เพื่อดักตะกอนดิน ทุก 15 วัน นำตะกอนที่ดักได้ไปอบแห้งและนำไปชั่งน้ำหนัก (หน่วยกรัม/วัน) วิธีนี้จะช่วยตรวจสอบว่ามีตะกอนเข้ามาจริงและเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะพิสูจน์ได้ว่าพื้นดินงอกขึ้นจริงหรือไม่
สำหรับผลการศึกษาวิจัย หลังการปักไม้ไผ่ร่วมกับการวางเต๋ายางรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้เต๋ายางไม่เคลื่อนที่หรือหลุดจากแนวที่ติดตั้งไว้ พบว่า ต้นไม้หยุดการล้ม มีต้นไม้งอกขึ้น และยังพบกล้าไม้ที่อยู่ตามพื้นที่ในบริเวณแนวชายฝั่งเดิมเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยเจอเนื่องจากถูกคลื่นซัดหายไป และพบมีดินตะกอนงอกออกไปในทะเล รวมทั้งพื้นทะเลหลังแนวป้องกันฯ งอกสูงขึ้นจากเดิมที่พื้นทะเลถูกกัดเซาะลึกลง ในด้านทรัพยากรชายฝั่งทะเล พบว่า หอยขาว หอยแครง สัตว์น้ำหน้าดินเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ด้านองค์ความรู้ชุมชน ในอดีตที่ชุมชนไม่มีองค์ความรู้ในการตรวจสอบประสิทธิภาพของแนวป้องกัน แต่ปัจจุบันชุมชนสามารถตรวจวัดระดับการกัดเซาะชายฝั่งได้ด้วยตนเอง และนำไปสู่การจัดทำต้นแบบแผนชุมชนในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของชุมชนเอง ล่าสุดได้รับความสนใจจากคณะรัฐมนตรีนำโดย พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่เยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริและเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำและป่าชายเลนชุมชนบ้านเปร็ดใน" ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จากความสำเร็จดังกล่าว ปัจจุบันแนวคิดของชุมชนบ้านเปร็ดในได้รับความสนใจจากชุมชนใกล้เคียง ที่จะนำวิธีการศึกษาประสิทธิภาพและการติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไปใช้ เกิดการขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ตลอดจนได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของไทย