ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยข้อมูลการบูรณาการสำรวจจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผล ปี 2561 ซึ่ง สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) และศูนย์สารสนเทศการเกษตร ของ สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก วิเคราะห์ผลสำรวจ ในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการไม้ผลตั้งแต่ต้นฤดู
ผลสำรวจข้อมูลเอกภาพปี 2561 (ข้อมูล ณ 4 เมษายน 2561) พบว่า เนื้อที่ยืนต้นของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 678,203 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 677,061 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1,142 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.17) โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ในขณะที่มังคุดลดลงร้อยละ 0.30 เงาะ ลดลงร้อยละ 1.63 และ ลองกอง ลดลงร้อยละ 8.97 ซึ่งการลดลดลงของมังคุด เงาะ และลองกอง เป็นการตัดโค่น สางต้นออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน
เนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 615,172 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 605,481 ไร่ (เพิ่มขึ้น 9,691 ไร่ หรือร้อยละ 1.60) โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.32 มังคุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.49 ส่วนเงาะลดลงร้อยละ 0.94 และลองกองลดลงร้อยละ 6.89
ผลผลิตรวมทั้ง 4 สินค้า มีประมาณ 647,522 ตัน ลดลงจากปี 2560 ที่มีจำนวน 792,113 ตัน (ลดลง 144,591 ตัน หรือ ร้อยละ 18.25) ซึ่งผลผลิตรวมของทั้ง 4 สินค้าจะลดลงทุกชนิด โดย มังคุด ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 64.81 รองลงมาคือ ลองกอง ลดลงร้อยละ 32.05 เงาะ ลดลงร้อยละ 9.81 และทุเรียน ลดลงร้อยละ 4.37 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งอากาศหนาว ร้อน และฝนตกสลับในแต่ละวัน ทำให้ไม้ผลปรับสภาพต้นไม่ทัน ไม่เอื้ออำนวยในการติดดอก ออกผล ไม้ผลออกใบอ่อนแทนการออกดอก ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน
ผลผลิตต่อไร่ทั้ง 4 สินค้า ลดลงทุกสินค้า โดยผลผลิตต่อไร่ มังคุด ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 65.34 รองลงมา คือ ลองกองลดลงร้อยละ 27 เงาะลดลงร้อยละ 8.94 และทุเรียนลดลงร้อยละ 8.31 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 ในระยะที่ต้นไม้กำลังจะเริ่มติดดอก ออกผล ต้นไม้ปรับสภาพต้นไม่ทัน อีกทั้งในปีที่ผ่านมา มังคุดติดผลมาก และติดผลล่าช้า จึงพักสะสมอาหาร และคาดการณ์ปีนี้จะออกดอกล่าช้า บวกกับสภาพอากาศแปรปรวน เป็นการออกใบอ่อนแทนการออก และส่วนหนึ่งต้นทุเรียนประสบปัญหาเชื้อราไฟทอปเธอราที่ระบาดในปี 2560 ทำให้ทุเรียนเป็นโรครากโคนเน่ายืนต้นตาย ขยายเป็นพื้นที่กว้างทั้งจังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะแหล่งผลิตใหญ่ในจังหวัดจันทบุรี ได้รับผลกระทบมากทำให้จำนวนต้นต่อไร่ที่ให้ผลผลิตได้ลดลง แม้จะมีต้นใหม่เริ่มให้ผลเพิ่มขึ้น ในปีนี้แต่ปริมาณการติดผลต่อต้นไม่มาก
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในขณะนี้ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวนในช่วงเดือนเมษายน มีพายุฤดูร้อนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับไม้ผล ผลผลิตร่วงหล่นเสียหายเพิ่มเติมจากที่ผลวิเคราะห์ประมาณการผลผลิตไว้ในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะได้ติดตามสถานการณ์ ความเสียหายจากภัยต่าง ๆ ที่จะกระทบกับปริมาณผลผลิตในภาพรวมต่อไป